Subscribe:

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วนเกษตร

วนเกษตรเป็นปรัชญาชีวิตในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการใช้ดินอย่างเป็นประโยชน์มีการจัดระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลขึ้นในธรรมชาติ รูปแบบการทำวนเกษตรเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ โดยการทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์จะต้องเกื้อกูลและเหมาะสมกับระบบนิเวศป่าไม้ในท้องถิ่น

การทำวนเกษตรเน้นการมีกินมีใช้ในครัวเรือน โดยนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีการดำรงชีวิตที่ผสมผสานกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการปลูกพืชพรรณไม้สมุนไพรชนิดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งของใช้สอย มีการสร้างสวัสดิการให้แก่ชีวิตในระยะยาวโดยการปลูกป่า สำหรับใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน หรือตัดไปขายเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ครัวเรือนเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต มีการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช สัตว์น้ำเพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ

การทำวนเกษตรเน้นการพึ่งตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการเตรียมความพร้อมของปัจจัยสี่ให้กับตนเองเป็นการอยู่รวมกับธรรมชาติแบบเกื้อกูลกัน ตลอดจนเป็นเกษตรสวัสดิการซึ่งส่งผลประโยชน์ในภายหน้าเพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ในอนาคต

ขั้นตอน/วิธีทำ

  1. เริ่มต้นด้วยการปลูกพืชอาหารที่มีอายุสั้น ที่บริโภคได้ภายในครัวเรือนและเป็นที่ต้องการของตลาดท้องถิ่น เช่น ข้าวโพด ถั่วฝักยาว แตงกวา มะระ เป็นต้น
  2. เน้นการใช้แรงงานตนเองและภายในครัวเรือนเป็นหลัก โดยผลผลิตส่วนเกินจากการบริโภคในครอบครัวแล้ว นำไปขายเพื่อนำเงินมาใช้ในสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
  3. ปลูกพืชที่ทนทานต่อโรคและแมลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องดูแลมาก และไม่ต้องใช้สารเคมี พร้อมกับการปลูกพืชสมุนไพร
  4. นอกจากปลูกพืชอาหารและสมุนไพรแล้ว ให้ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น รวมทั้งไม้โตเร็วและไม้ใช้สอยเพื่อที่จะได้เก็บผลขายได้ในระยะยาว
  5. การปลูกพืชทุกชนิดควรปลูกแบบผสมผสาน ไม่ต้องเป็นแถวเหมือนพืชสวน พืชไร่ ควรปลูกให้เหมือนสภาพป่าธรรมชาติ ไม้จะโตได้ดีเช่นเดียวกับต้นไม้ในป่า ทั้งช่วยในการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้กลับคืน
  6. พืชที่เป็นไม้สูง ไม้ระดับกลาง ไม้พุ่ม และพืชคลุมดินจะอยู่ปะปนกัน เพื่อให้มีการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติเพราะพืชระดับสูงจะเป็นร่มเงา และยังช่วยนำน้ำและธาตุอาหารจากดิน ที่ลึกลงไปขึ้นมาเมื่อใบไม้ใหญ่แก่ร่วงลงบนดินก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืชระดับผิวดิน ในขณะที่พืชชั้นล่างจะช่วยควบคุมวัชพืช และรักษาความชื้นของหน้าดินไว้
ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำวนเกษตร
  1. วนเกษตร เป็นแหล่งสร้างปัจจัยสี่แก่ครอบครัว มีอาหารสำหรับบริโภค มีสมุนไพรรักษาโรคมีไม้ใช้สอย และพืชเส้นใยไว้ใช้ถักทอสำหรับเสื้อผ้า และยังเป็นแหล่งพันธุกรรมพืชที่หลากหลายไม่สามารถประเมินค่าได้ โดยมีหลักการบริหารจัดการที่เน้นการพึ่งพาตนเองทั้ง 5 ด้าน คือ
    • การจัดการข้าว โดยการดำเนินการผลิตด้วยตนเอง ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว การบริโภคและการจัดจำหน่าย
    • ด้านอาหาร มีการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารที่เน้นสุขภาพ ให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน
    • ด้านยารักษาโรค โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสมุนไพรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์เพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก
    • การจัดการ สิ่งของเพื่อการใช้สอยในครัวเรือนควรปลูกพืชเพื่อการใช้สอยภายในครัวเรือนลดการพึ่งพาจากภายนอก
    • การจัดการที่ดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สร้างความสมดุลของระบบนิเวศ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
  2. เป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง ให้รู้โลก รู้ชีวิต รู้ธรรมชาติ รู้ธรรมะเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและเป็นแหล่งเรียนรู้
  3. สร้างสังคมที่มีความเมตตาต่อกันมากขึ้น มีการสร้างสรรค์สิ่งดีงามในชีวิตทั้งศิลปะการอยู่ร่วมกัน เมื่อมีความเพียงพอจะไม่เกิดการแย่งชิงกัน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดเป็นสังคมที่สงบ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ที่มา : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร จังหวัดฉะเชิงเทรา
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น