Subscribe:

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน หมายถึง กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกของชุมชนมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควบคุม ตรวจสอบ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน มีความสามารถที่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งอาหารปลอดภัยบริโภค สภาพสังคมที่เป็นธรรมสิ่งแวดล้อมที่ดี และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ปัญหาการเกษตรและปัญหาของเกษตรกรในแต่ละชุมชนการเกษตรไม่สามารถแก้ได้ด้วยเพียง“มิติทางเทคนิคเพียงเท่านั้นแต่ต้องแก้ที่มิติทางสังคมด้วย” โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ของ “ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญของการพัฒนาความรู้ ทัศนคติ ทักษะ หรือพฤติกรรมของคนของกลุ่มคนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นมิตรต่อกันและกันและมุ่งสู่ชุมชนยั่งยืน

ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการมุ่งสู่ “ชุมชนยั่งยืน ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข” โดยการสร้างชุมชนยั่งยืนอย่างได้ดุล เป็นธรรม พึ่งตนเองได้ในทุกด้านเป็นหัวใจของการพัฒนา และการที่จะทำให้ชุมชนอยู่อย่างยั่งยืนนั้นชุมชนจะต้องมี “แผนแม่บทชุมชน หรือ แผนชุมชน หรือแผนพัฒนาชุมชน” และแผนดังกล่าว อาจจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือแนวทาง หรือ มรรค ที่หลากหลายตามแต่ความต้องการของแต่ละชุมชน เช่น

  1. ด้านการพัฒนาบุคลากร องค์กร และการศึกษาชุมชน
  2. ด้านระบบกองทุนและสวัสดิการชุมชน
  3. ด้านระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  4. ด้านระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและตลาดที่เป็นธรรม
  5. ด้านระบบแปรรูปและผลิตของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน
  6. ด้านระบบสุขภาพชุมชน
  7. ด้านระบบสาธารณูปโภคชุมชน
  8. ด้านระบบอื่นๆ ที่จำเป็น
การได้มาซึ่งแผนชุมชนนั้นจะต้องเป็นแผนที่ได้มาจากการมีส่วนร่วม ทั้งลักษณะของกระบวนการพัฒนาและลักษณะทางการเมืองของคนหรือตัวแทนทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียใน “ภูมินิเวศสังคมวัฒนธรรม” ของชุมชนซึ่งหากมองดูอาจเป็นเรื่องยากที่ชุมชนจะทำได้ครบทุกยุทธศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้ในชุมชนที่สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ร่วมทำงานทั้งกับเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคก็เป็นชุมชนหนึ่งที่พอจะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านต่างๆ เหล่านี้ได้

จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับเกษตรกรรายย่อย และผู้บริโภคที่ผ่านมาของสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ได้สรุปหลักการเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนดังต่อไปนี้

การพึ่งตนเองและเศรษฐกิจพอเพียง
  1. เริ่มจากการผลิตอาหารที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติเพื่อบริโภคในครอบครัวก่อน
  2. พึ่งตนเอง เน้นการลดรายจ่าย ใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก
  3. ทำการเกษตรที่มีระบบสอดคล้องกับธรรมชาติ และเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ตามหลักการของห่วงโซ่อาหารที่ประกอบด้วย “ผู้ผลิต - ผู้บริโภค - ผู้ย่อยสลาย”
  4. ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  5. มีการแปรรูปทางการตลาดที่เหมาะสมและเป็นธรรม
การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด รู้คุณค่า
  1. ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต แปรรูป ตลาดทุกขั้นตอน
  2. รวบรวม พัฒนา ปรับปรุง พันธุกรรม พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ท้องถิ่น
  3. เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างต่อเนื่อง ด้วยหมุนเวียนทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
  4. ฟื้นฟูองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการศึกษา ทดลองวิจัยอย่างต่อเนื่อง
สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนฐานองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคนและองค์กร
  1. ตระหนักในการสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมในองค์ความรู้ ข้อมูล การคิด ตัดสินใจ ดำเนินการรับผิดชอบและประเมินบทบาทหญิงชาย
  2. สร้างและพัฒนาองค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่น ที่ชุมชนและสังคมเชื่อมั่น
  3. พัฒนาแผนชุมชนยั่งยืน

ที่มา : สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ISAC) จังหวัดเชียงใหม่
 กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น