ลักษณะทั่วไปของกระถินเทพา
กระถินเทพาเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่พบที่ความสูงไม่เกิน 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น บริเวณถิ่นกำเนิดมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,000 - 5,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 22-34 องศาเซลเซียส
ลำต้น มีสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างหนา เมื่อแก่เปลือกจะหยาบ เป็นสีเขียวอมน้ำตาลไม่มีกิ่งแขนงมาก เนื้อไม้ส่วนกระพี้บาง สีค่อนข้างอ่อน ส่วนแก่นมีสีน้ำตาล มีความหนาแน่นประมาณ 0.56 กรัม ต่อ ลูกบาศก์เซนติเมตร
ใบ มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวมีเส้นใบขนานกันขนาดอาจโตถึง 10x25 เซนติเมตร เกิดแบบสลับส่วนที่เห็นแผ่นใบ คือ ส่วนของก้านใบเปลี่ยนรูปมาทำหน้าที่เป็นใบ
ดอก เป็นดอกช่อรูปทรงกระบอกแบบหางกระรอก สีขาวครีม ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร
ผลและเมล็ด มีลักษณะบิดไปมาเป็นกลุ่มก้อนแน่น เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีสีดำขนาด 3 - 5 มิลลิเมตร เกิดเรียงไปตามความยาวของฝักและยึดติดกับฝักด้วยรก ซึ่งมีสีเหลืองสด
การเตรียมกล้าไม้กระถินเทพา
กระถินเทพา อาจขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการปักชำหรือตอนกิ่ง แต่เมื่อจะปลูกเป็นการค้าหรือปลูกเป็นจำนวนมาก ควรขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเพราะสะดวกกว่า และได้ต้นที่มีรากแก้ว ทำให้แข็งแรงและเจริญเติบโตรวดเร็ว การเตรียมต้นกล้าด้วยเมล็ดควรเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การเพาะเมล็ด เริ่มกระทำโดยนำเมล็ดลงแช่ในน้ำร้อนซึ่งมีอุณหภูมิ 80 ถึง 100 องศาเซลเซียส อัตราส่วนของเมล็ดกับน้ำควรเป็น 1 ต่อ 10 โดยปริมาตรใช้เวลาแช่นานประมาณ 30 วินาที รินน้ำร้อนทิ้งแล้วเติมน้ำเย็นประมาณ 25 องศาเซลเซียสลงไปแทนที่ แช่เมล็ดไว้ 1 คืน โรยเมล็ดลงเป็นแถวๆ ในกระบะเพาะ แล้วกลบด้วยทรายละเอียด วัสดุในกระบะเพาะเมล็ดควรเป็นดินร่วนผสมทรายในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยปริมาตร เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะประมาณ 3-8 วัน ซึ่งหากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง อาจใช้วิธีเพาะลงในถุงชำกล้าไม้โดยตรงก็ได้
- การย้ายชำ ควรกระทำหลังจากเมล็ดงอกประมาณ 15 วัน หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 2-3 ใบ วัสดุชำใช้ดินร่วนหรือปุ๋ยคอกผสมทราย ถุงเพาะชำควรมีขนาด 3x6.5 นิ้ว (ขนาดบรรจุ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร) ก่อนทำการย้ายกล้า ควรรดน้ำกระบะเพาะและถุงเพาะให้ชุ่มเสียก่อน
- การดูแลรักษา ต้นกล้าในระยะ 3 วันแรก หลังจากย้ายลงปลูกในถุงเพาะควรให้ได้รับแสงแต่น้อยไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ต่อจากนั้นเมื่อกล้าเริ่มแข็งแรงและมีอายุมากขึ้น จึงค่อยให้ได้รับแสงเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ที่อายุ 1 สัปดาห์ และ 12 สัปดาห์ ให้ได้รับแสง 50 เปอร์เซ็นต์ และ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และสุดท้ายก่อนนำไปปลูกประมาณ 1 เดือน ควรให้ได้รับแสงเต็มที่คือ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้นกล้าควรได้รับการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชบ้างเมื่อมีโรคและแมลงรบกวน และหากต้องการเร่งการเจริญเติบโตอาจใช้ปุ๋ยเคมี N-P-K-Mg สูตร 12: 12: 17: 2 ในอัตรา 125 กรัมต่อน้ำ 40 ลิตร ฉีดพ่นทางใบทุก 2 สัปดาห์ การให้น้ำต้นกล้าควรกระทำในเวลาเช้าหรือเย็นหรือเมื่ออากาศไม่ร้อนจัด ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนก่อนนำไปปลูก
สาธิตการกระตุ้นเมล็ดกระถินเทพา
พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกระถินเทพา
ไม้กระถินเทพา เป็นไม้ต่างประเทศที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ มักขึ้นอยู่ในพื้นที่สูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับนํ้าทะเลปานกลาง ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของไม้กระถินเทพา ได้แก่
- อุณหภูมิ โดยทั่วไปไม้กระถินเทพาจะขึ้น ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดระหว่าง 25°-30° องศาเซียลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 13°-21° องศาเซียลเซียส กระถินเทพาจะไม่ขึ้น ในบริเวณที่อุณหภูมิสูงกว่า 38° องศาเซียลเซียส และที่อุณหภูมิต่ำถึงจุดน้ำค้างแข็ง
- น้ำฝน กระถินเทพาเป็นไม้ที่ขึ้นบนที่ชุ่มชื้น ความแห้งแล้งจะทำให้การเจริญเติบโตลดลงมาก ปริมาณน้ำฝนในแหล่งธรรมชาติของกระถินเทพานั้น แตกต่างกันมากกล่าวคือ ตั้งแต่ 1,000 มิลลิเมตร จนถึง 45,000 มิลลิเมตร ต่อปี
- ดิน กระถินเทพาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินหลายชนิด เช่น ดินที่มีหินปะปน ดินที่ถูกชะล้างมาก่อนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต่ำ และยังขึ้นได้ดีในดินลึกที่เกิดจากการสลายตัวของวัตถุต้นกำเนิดดินหรือดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนในบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งยังเจริญได้ดีในดินที่เป็นกรด ช่วง pH ที่เหมาะสม คือ pH 4-6
กระถินเทพา สามารถเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่จะเติบโตช้าในระยะแรกต้นกล้าที่ใช้ปลูกควรมีอายุประมาณ 3-6 เดือน หรือมีความสูง ตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตร ก่อนย้ายต้นกล้าไปแปลงปลูก ควรมีการตัดแต่งรากที่งอกออกมานอกถุงเพาะชำและรดน้ำให้ชุ่มก่อนย้ายปลูก
- การกำหนดฤดูปลูก โดยทั่วไปควรปลูกต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ต้นกระถินเทพามีช่วงรับน้ำฝน เพื่อการเจริญเติบโตได้ยาวนานเพียงพอ สามารถตั้งตัวได้ทันก่อนฤดูแล้งจะมาถึง โดยทั่วไปควรเริ่มปลูกประมาณเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
- การเตรียมพื้นที่ปลูก กระถินเทพาเป็นพืชที่มีความต้องการแสงแดด ดังนั้นพื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่ซึ่งมีวัชพืชมากควรมีการเตรียมดินให้ดีเป็นพิเศษเพื่อลดปัญหาเรื่องกำจัดวัชพืชให้น้อยลง เนื่องจากกระถินเทพามีคุณสมบัติเติบโตช้าในระยะแรก
- ระยะปลูก ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เงินลงทุน การใช้ประโยชน์และความสะดวกในการทำงานสำหรับการปลูกไม้โตเร็วโดยทั่วไปนิยมใช้ระยะ 2x2 เมตร (400 ต้น/ไร่) แต่ถ้าปลูกในพื้นที่จำนวนมาก ควรใช้ระยะ 3x1 หรือ 3x2 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้
- วิธีปลูก หลุมปลูกนั้นควรเตรียมให้มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของถุงเพาะชำเล็กน้อย ก่อนปลูกต้องฉีกถุงเพาะชำออก และต้องระวังอย่าให้ดินที่หุ้มรากอยู่ปริแตกได้เพราะจะทำให้รากถูกกระทบกระเทือน ต้นกล้าจะตั้งตัวช้า การปลูกควรตั้งลำต้นให้ตรงให้ระดับคอรากอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินเล็กน้อยเมื่อปลูกเสร็จให้กลบดินให้แน่น
กระถินเทพา เป็นพืชที่เติบโตช้าในระยะแรก ดังนั้นในระยะ 1-2 ปีแรก ถ้ามีการดูแลรักษาที่ดี จะมีอัตราการรอดตายสูง
- การปลูกซ่อม ควรทำให้เร็วที่สุด โดยให้ทันฤดูเดียวกัน แต่ถ้าไม่สามารถซ่อมทัน อาจซ่อมในปีถัดไป โดยใช้ต้นกล้าที่ได้รับการดูแลอย่างดี และควรมีปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต
- การให้น้ำ กระถินเทพาเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ถ้าปลูกในตอนต้นฤดูฝนจะสามารถอยู่รอดได้ในฤดูแล้งปีถัดไป โดยไม่ต้องมีการให้น้ำ
- การกำจัดวัชพืช โดยปกติกระทำปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในระหว่างฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และครั้งที่สองก่อนเข้าฤดูแล้งในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เพื่อเป็นการป้องกันไฟป่า การกำจัดวัชพืชอาจใช้สารเคมีหรือใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรก็ได้ เมื่อเจริญเติบโตจนมีทรงพุ่มชนกันปัญหาวัชพืชก็จะค่อยลดลง ทั้งนี้เนื่องจากต้นกระถินเทพามีใบใหญ่และหนาจนแสงแดดไม่สามารถส่องถึงพื้นได้ นอกจากนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้นใบก็จะร่วงและคลุมดินไว้หนาแน่น ยากที่วัชพืชจะเจริญเติบโตได้
- การใช้ปุ๋ย กระถินเทพามีการตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ แต่ถ้าดินขาดความสมบูรณ์ควรมีการใส่ปุ๋ยบ้าง การใส่ปุ๋ยควรใส่หลังจากต้นไม้ตั้งตัวแล้ว หรือเมื่อต้นกล้าเริ่มแตกยอดอ่อน วิธีใส่ควรใส่รอบโคนต้นแล้วพรวนกลบ สูตรปุ๋ยและปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน การใช้ปุ๋ยควรใช้ในตอนต้นฤดูฝน
- การป้องกันโรค และแมลง ในปัจจุบันพบโรคไส้ฟัก ซึ่งเกิดจากเชื้อราผุสีขาว(white rotfungi) เข้าทำลายเนื้อไม้กระถินเทพา ซึ่งในประเทศไทยพบการระบาดของโรคนี้มากที่สุด ที่สวนป่าลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และพบประปรายในพื้นที่ส่วนป่า โครงการวิจัยและฝึกอบรมการปลูกสร้างสวนป่า จ.นครราชสีมา (พิศาล, 2536) จากการทดลองปลูกกระถินเทพาที่สวนสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และที่ศูนย์พิกุลทอง จ.นราธิวาส ยังไม่พบโรคและแมลงที่ทำความเสียหายอย่างรุนแรงกับกระถินเทพาซึ่งในอนาคตโรคนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้กระถินเทพาได้เป็นอย่างมากหากมีการปลูกป่าเป็นไม้ชนิดเดียว (monoculture) จะก่อให้เกิดอันตรายจากโรคไส้ฟักได้ง่าย
- การทำแนวกันไฟ กระถินเทพาเป็นไม้ผลัดใบ ใบใหญ่หนาและพื้นดินบริเวณโคนต้นไม่ค่อยมีวัชพืชขึ้น การเกิดไฟป่าจึงค่อนข้างยาก แต่ก็ควรทำแนวกันไฟโดยกำจัดวัชพืชก่อนถึงฤดูแล้ง ถ้าปลูกเป็นจำนวนมากพื้นที่มากควรทำแนวกันไฟรอบแปลง โดยแบ่งเป็นแปลง แปลงละ 90-120 ไร่ แนวกันไฟโดยทั่วไปจะกว้าง ประมาณ 5-10 เมตร
- การตัดสางขยายระยะ ขึ้นอยู่กับระยะปลูกและสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปจะเริ่มตัดสางเมื่อการขยายตัวของเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นมีอัตราต่ำ การตัดสางควรพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของไม้ที่ถูกตัดสางออกด้วย
อายุการตัดฟันของไม้โตเร็วขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูก การเจริญเติบโตและการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ โดยทั่วไปกำหนดอายุการตัดฟันของไม้กระถินเทพาไว้ตั้งแต่ 6-20 ปี การโค่นล้มควรกระทำตอนต้นฤดูแล้ง เพราะสะดวกต่อการชักรากและขนส่งการลอกเปลือกและการทอนไม้ควรทำทันทีหลังจากการโค่นล้ม เพราะหากทิ้งไว้นานจนแห้งจะทำได้ยากขึ้นในกรณีการปลูกใหม่หรือเปลี่ยนพืชปลูก การทำลายตอนับว่าเป็นปัญหาสำคัญมาก การขุดถอนตอเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและลงทุนสูง การใช้สารเคมีทำลายตอเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดที่สุด สารเคมีที่นิยมใช้ได้แก่ โซเดียมอาร์ซีไนท์ (sodium arsenite) 5 เปอร์เซ็นต์ รดบริเวณตอให้ตอหยุดแตกหน่อและสลายตัวเร็วขึ้น และการจัดการกระถินเทพาอายุ 7 ปี สามารถสูงได้ถึง 26.9-35.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางระดับอก 20.9-28.7 เซนติเมตร อัตราผลตอบแทนของโครงการเมื่อใช้ต้นทุนของเอกชนรายย่อยสูงสุด เท่ากับ 31.99 เปอร์เซนและจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยของนักวิจัยหลายๆ ท่านที่ผ่านมาสามารถกล่าวได้ว่ากระถินเทพาเป็นไม้ที่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกในประเทศไทย และเป็นไม้โตเร็วมีรอบตัดฟันสั้นและให้ผลทางเศรษฐกิจเร็วและคุ้มค่าต่อการลงทุน กระถินเทพาเป็นไม้ที่สมควรจะส่งเสริมการปลูกสวนป่าทั้งในภาครัฐและเอกชน (โครงการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจระดับจังหวัด, 2548)
ประโยชน์ของกระถินเทพา
กระถินเทพาสามารถนำไปใช้ทำ particle board ได้ดี โดยใช้ไม้อายุประมาณ 7-8 ปี ผสมกับไม้ชนิดอื่น อีกทั้งยังใช้เป็นไม้ฟืนได้ดี เพราะมีความหนาแน่น และค่าความร้อนสูง 4,800 - 4,900 แคลอรี่/กรัม ถึงแม้ว่าการปลูกไม้ชนิดนี้จะไม่เน้นเพื่อเป็นเชื้อเพลิงก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้ได้เช่นกัน
เยื่อไม้กระถินเทพาที่ผ่านการฟอกแล้ว นำไปผลิตเป็นกระดาษชนิดสี เช่น กระดาษเขียนหนังสือ เพราะมีคุณภาพใกล้เคียงกับเยื่อที่ได้จากไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในโรงงานที่ผลิตกระดาษชนิดต่างๆ
เนื่องจากไม้กระถินเทพามีความหนาแน่นมาก จึงมีผลผลิตของเยื่อเป็นเปอร์เซ็นต์สูงจึงคาดหมายได้ว่า ไม้กระถินเทพาควรจะขายได้ราคาสูงกว่าไม้โตเร็วชนิดอื่นๆ ที่ใช้สำหรับทำเยื่อกระดาษเหมือนกัน เช่น ไม้ซ้อ ไม้ตะกู ไม้ยูคาลิปตัส
ที่มา : ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น