ทำไมต้องหมูหลุม
ภายหลังการปฏิวัติเขียว (Green revolution) ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรมาเป็นแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งการผลิตในระบบดังกล่าวแม้จะมีผลดีในแง่การเพิ่มผลผลิต แต่ก็ไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูงและยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ในการเลี้ยงหมูก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันแม้ประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มหมูสมัยใหม่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่การทำฟาร์มหมูก็ต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูงและยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้การเลี้ยงหมูรายย่อยแบบออมสินหลังบ้านค่อยๆ หายไปจากชุมชน
เมื่อไม่กี่ปีมานี้สมาคมเกษตรกรรมธรรมชาติแห่งเกาหลี (Korean Natural Farming Association: KNFA) โดยนายกสมาคมคือคุณฮันเคียวโช ได้นำรูปแบบการเลี้ยงหมูหลุมมาเผยแพร่ในประเทศไทยที่จังหวัดพะเยา โดยมีหลักคิดสองประการได้แก่
- ปรับรูปแบบการให้อาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพาการย่อยอาหารของหมู
- การใช้วัสดุรองนอนร่วมกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganism: EM) เพื่อย่อยสลายมูลสัตว์
วิธีการเลี้ยง
- โรงเรือน
การให้อาหารผักเสริมแต่ต้องแช่ในน้ำ EM ก่อน |
ผสม EM ลงในน้ำดื่มของสุกร |
การเตรียมคอก
ขนาดคอกกว้าง 1.5 x 2 เมตร สามารถเลี้ยงหมูได้ 2 ตัว เริ่มด้วยการขุดพื้นคอกลึกลงไป 90 ซม. (หรือขุดเพียง 45 ซม.แล้วเอาดินที่ขุดขึ้นมานั้นถมด้านข้างก็จะได้ความลึก 90 ซม.) ในการมุงหลังคาควรให้ชายคากว้างกันไม่ให้น้ำฝนสาดเข้ามาในคอกและเมื่อตีฝาคอกแล้วควรใช้อิฐบล็อกหรือไม้ไผ่กั้นรอบๆ คอกลึกลงไปจากพื้นดิน 40-50 ซม.เพื่อกันไม่ให้หมูขุดออกนอกคอก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ บริเวณที่จะทำการสร้างคอกไม่ควรเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมขังและควรเป็นที่ร่มใต้ต้นไม้อากาศถ่ายเทได้ดี
การเตรียมวัสดุพื้นคอก
เมื่อขุดหลุมเสร็จ ปูพื้นคอกโดยใช้แกลบ 10 ส่วนผสมดินละเอียด 1 ส่วน เทลงก้นหลุมที่ขุดไว้ให้มีความหนา 30 ซม.แล้วใช้เกลือเม็ด 1 ถ้วยตราไก่หรือประมาณครึ่งลิตรโรยหน้าแล้วใช้น้ำหมักชีวภาพ 2 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 บัว(10 ลิตร)ราดให้ทั่ว ทำเหมือนเดิมอีก 2 ชั้นจนเท่าระดับพื้นดิน ทิ้งไว้ประมาณ 10 วันจึงนำหมูเข้าอยู่และควรราดน้ำหมักชีวภาพลงบนพื้นคอกเพิ่มเติมทุกๆ 5-7 วัน ครั้งละ 1 บัว ภายหลังการเริ่มเลี้ยงแล้วเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
ในกรณีที่ไม่สามารถหาแกลบได้อย่างเพียงพอที่จะเติมจนครบสามชั้น ก็สามารถเติมเพียงชั้นเดียวก่อนแล้วนำหมูลงไปเลี้ยงระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ เติมจนครบสามชั้นในภายหลัง หรือไม่ก็ใช้วัสดุอื่นเช่น ฟางข้าว หรือ ขี้เลื่อย มารองใส่ชั้นล่างสุดแทนแกลบก็ได้
สภาพคอกโดยรวม |
การขุดหลุมทำคอก |
การเกลี่ยหน้าแกลบให้เรียบร้อยก่อนนำหมูเข้าเลี้ยง |
นำลูกหมูเข้าเลี้ยงหลังพักคอกไว้แล้ว 10 วัน |
ให้อาหารผสมหรืออาหารสำเร็จเพียงร้อยละ 30 เช่น เคยให้ตัวละ 2 กก.ต่อวันก็จะต้องเหลือแค่ตัวละ 6 ขีดต่อวัน ( หรืออาหารสำเร็จ 150 กรัมหรือ 1.5 ขีด สามารถทดแทนด้วยผัก 1 กก.)ส่วนอาหารที่จะให้หมูกินเป็นหลักคือ ผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไป เช่น หยวกกล้วย ผักโขม ผักตบชวา ยอดกระถินโดยนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วแช่ในน้ำที่ผสมน้ำหมักชีวภาพไว้นานประมาณ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งใช้สูตรเดียวกับน้ำที่ให้หมูกินคือ ผสมน้ำหมักชีวภาพกับน้ำ ในอัตราส่วนตั้งแต่ 1 ต่อ 1,000 สำหรับหมูเล็ก(หมูหย่านม – 30 กก.) , 1 ต่อ 800 สำหรับหมูรุ่น( น้ำหนัก30 – 60 กก.) ,1 ต่อ 500 สำหรับหมูใหญ่หรือหมูพ่อ-แม่พันธุ์ ( น้ำ 1 ปี๊บ มี 20 ลิตร หากเป็นหมูเล็กผสมแค่ 2 ช้อนโต๊ะ,หมูรุ่น ผสม 3 ช้อนโต๊ะ,หมูใหญ่ผสม 4 ช้อนโต๊ะ)
การกินอาหารของสุกรแต่ละตัวตามอายุของสุกรดังนี้
- การดูแลสุขภาพ
แนวคิดการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ของการเลี้ยงหมูในรูปแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้มีเชื้อโรคปราศจากเชื้อโรค แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ตัวหมูซึ่งในทางวิทยาการระบาดถือเป็นโฮสต์ (Host) กับเชื้อโรค (Agent) และสิ่งแวดล้อม (Environment) อยู่ในสภาวะสมดุลย์ ซึ่งก็จะทำให้หมูไม่เป็นโรคโดยให้หมูได้อยู่อย่างสบายตามธรรมชาติซึ่งจะทำให้หมูสุขภาพดีและมีภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติอย่างไรก็ตาม เราควรเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคที่มีความเสี่ยง เช่น อหิวาต์สุกร โดยการทำวัคซีนก่อนนำหมูเข้าขุน ถ่ายพยาธิโดยใช้ยาถ่ายพยาธิที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไป หากเกิดเจ็บป่วยก็ทำการรักษา เราสามารถนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ แต่ต้องทำใจไว้ก่อนว่าผลการรักษาคงไม่เห็นทันตาเท่ากับยาแผนปัจจุบัน
ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุม
- ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงแบบทั่วไป เนื่องจากเราสามารถลดต้นทุนโดยการให้อาหารประเภทพืชผักตามฤดูกาลทดแทนอาหารสำเร็จรูปบางส่วนได้
- หมูได้อยู่แบบธรรมชาติทำให้ไม่มีความเครียด ไม่ส่งเสียงร้องรบกวนคนเลี้ยงและเพื่อนบ้าน
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกลิ่นเพียงเล็กน้อย ไม่มีน้ำเสียเนื่องจากไม่ต้องอาบน้ำชำระล้างตัวหมูและทำความสะอาดคอก ทำให้แมลงวันมีน้อยลงไปด้วย
- ประหยัดแรงงานเนื่องจากไม่ต้องใช้แรงงานในการเก็บกวาดมูลหมู ทำความสะอาดคอกและล้างตัวหมู ซึ่งยังทำให้ประหยัดน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงด้วย
- เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงหมูรายย่อยด้วยกัน หมูที่เลี้ยงในรูปแบบนี้จะเป็นที่ต้องการของพ่อค้าในท้องถิ่นมากกว่า เนื่องจากซากมีเนื้อแดงมากและมีไขมันน้อยกว่า บางท้องที่เช่นที่อำเภอภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ พ่อค้าในท้องถิ่นจะรับซื้อในราคาสูงกว่าหมูจากฟาร์มรายย่อยทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท
- มีผลพลอยได้คือวัสดุรองพื้นคอกซึ่งสามารถนำไปเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการปลูกพืชหรือนำไปจำหน่ายได้
- มีกำไรจากการเลี้ยงแม้ในช่วงราคาสุกรตก จากการที่ใช้ต้นทุนต่ำและสามารถจำหน่ายผลพลอยได้เป็นรายได้เสริม
ข้อจำกัด
การเลี้ยงหมูหลุมเหมาะสำหรับการเลี้ยงแบบรายย่อย ถ้าแต่ละรายมีการเลี้ยงมากเกินไปก็จะมีปัญหาในการหาแกลบมาเป็นวัสดุรองนอน และการหาพืชผักทดแทนอาหารสำเร็จรูปอาจไม่สะดวกและไม่สามารถหาได้ในบางฤดู และเหมือนกับการเลี้ยงหมูทั่วไปคือตัวแปรด้านราคาจะเป็นตัวกำหนดว่าการเลี้ยงหมูจะไปรอดหรือไม่ โดยเฉพาะในรายย่อยซึ่งมีเงินทุนสำรองไม่มาก
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์
จากการติดตามดูแลเกษตรกร จำนวน 120 ครัวเรือน ที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ทำการเลี้ยงหมูหลุมมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 นั้น มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ผู้สนใจนำไปเป็นข้อคิดก่อนที่จะลงมือเลี้ยงหมูหลุมเพื่อให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จดังต่อไปนี้
- จำนวนหมูที่เลี้ยงไม่ควรน้อยเกินไปจนไม่คุ้มค่าเสียเวลา เพราะการเลี้ยงหมูได้กำไรต่อตัวไม่มาก และการดูแลหมู 2 ตัวกับการดูแลหมู 20 ตัว ใช้เวลาในการทำงานในแต่ละวันไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นไหนๆ ก็เสียเวลาเลี้ยงแล้วควรเลี้ยงให้มีรายได้พอสมควร จำนวนที่เลี้ยงสำหรับรายย่อยถ้าเป็นการเลี้ยงหมูขุนควรจะอยู่ที่รายละประมาณ 10-50 ตัว ถ้ามากเกินไปอาจมีปัญหาในการหาแกลบมาเป็นวัสดุรองนอน และอาจส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านได้เช่นกัน
- ลูกหมูสายพันธุ์ดีก็สามารถนำมาเลี้ยงในรูปแบบนี้ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวลว่าถ้านำลูกหมูพันธุ์ดีมาจากฟาร์มมาตรฐานแล้วจะไม่สามารถเลี้ยงในรูปแบบนี้ได้ ลูกหมูที่นำมาจากฟาร์มอื่นอาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักหนึ่งไม่เกิน 2- 3 วัน ก็จะเป็นปรกติ
- การให้อาหารพื้นบ้านคุณภาพต่ำ ถึงแม้จะเป็นการลดต้นทุน แต่จะทำให้ระยะเวลาในการเลี้ยงยืดยาวออกไป การให้อาหารเต็มคุณภาพซึ่งอาจจะเป็นอาหารสำเร็จรูปหรือหัวอาหารผสมรำกับปลายข้าวหรือข้าวโพดบดตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าเนื่องจากใช้เวลาน้อยคืนทุนเร็วกว่า
- ควรมีการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองโดยเฉพาะด้านราคา เนื่องจากผู้ชำแหละหมูส่วนใหญ่จะรับซื้อหมูจากเจ้าประจำเนื่องจากความคุ้นเคย และเจ้าประจำจะมีหมูส่งให้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่อยากซื้อจากเจ้าอื่นโดยเฉพาะรายย่อยซึ่งไม่สามารถส่งหมูให้ได้โดยตลอดถ้าซื้อก็มักซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาปรกติ หากมีการรวมกลุ่มก็จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาได้ เนื่องจากมีหมูในปริมาณมากพอ และถ้ากลุ่มมีความเข้มแข็งก็สามารถพัฒนาให้เลี้ยงอย่างครบวงจรคือตั้งแต่มีการผลิตลูกหมูไปจนกระทั่งชำแหละหรือแม้กระทั่งทำผลิตภัณฑ์
ในปัจจุบันการเลี้ยงหมูหลุมกำลังขยายตัว จากนโยบายส่งเสริมอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลทำให้หลายๆ หน่วยงานมีการส่งเสริมการเลี้ยงหมูหลุมเป็นทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก จึงเป็นที่น่าวิตกเหมือนกันว่าหากการเลี้ยงมีการขยายตัวเร็วเกินไปจนอุปทาน (Supply) มีมากกว่าอุปสงค์(Demand) ก็จะทำให้ราคาตกจนผู้เลี้ยงไปไม่รอด เพราะปัจจัยที่สำคัญที่เป็นอุปสรรคหรือภาวะคุกคาม(Threat) ที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงหมูก็คือปัจจัยด้านราคา อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยก็น่าที่จะช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงหมูในรูปแบบนี้ ไม่ควรสกัดกั้นด้วยการใช้ความเป็นมาตรฐาน เพราะอย่างน้อยการเลี้ยงหมูหลุมก็เป็นการสร้างทางเลือกในการให้คนในชุมชนโดยเฉพาะในชนบทเข้าถึงอาหารโปรตีนได้อย่างเท่าเทียมกัน (Food Equity) และยังเป็นการเพิ่มแหล่งที่มาของเนื้อหมูให้หลากหลายมากขึ้นแทนที่จะมาเฉพาะจากฟาร์มรายใหญ่เท่านั้นทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะมีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการเลี้ยงหมูหลุมก็เป็นการเลี้ยงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact)น้อยมาก การมองเฉพาะมิติด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) อย่างเดียวโดยไม่มองรวมทั้งสามมิติข้างต้นเป็นการมองที่ไม่ครอบคลุม เพราะในขณะที่คนบางกลุ่มถามตัวเองว่าวันนี้จะกินอะไรดี ก็ยังมีคนอีกมากที่ยังถามตัวเองว่าวันนี้เราจะมีอะไรกิน และจริงๆ แล้วคนเราก็สามารถสร้างภูมิต้านทานได้เองโดยธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นอาหารประจำวันอย่างส้มตำที่ตรวจเมื่อไหร่ก็พบเชื้อโรคเมื่อนั้น ก็ยังคงเป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่บริโภคประจำวันโดยที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด
ที่มา : พิณซอ กรมรัตนาพร และ ผศ.เสรี แข็งแอ สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลับสู่หน้าหลัก "ไร่ชญาทิพ"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น