น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช เกษตรกรต้องมีน้ำใช้ให้เพียงพอกับความต้องการตลอดช่วงการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
ดิน เป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เพราะดินเป็นแหล่งของธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ถ้าดินดี มีชีวิต พืชก็จะเติบโตอย่างสมบูรณ์โดยจะต้องมีจิตสำนึกในการใช้ดินอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟูดินด้วยอินทรียวัตถุ ทั้งปุ๋ยคอกปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยพืชสด มีการปลูกพืชคลุมดินและไม่ใช้ปุ๋ยเคมีทำลายดิน
ต้นไม้ นอกเหนือจากจะให้ผลผลิตไว้บริโภคแล้ว ยังมีส่วนในการเป็นพืชพี่เลี้ยงที่ให้ร่มเงาช่วยดูดซับน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน และสร้างอินทรียวัตถุแก่ดิน ใบร่วงหล่นกลายเป็นปุ๋ยพืช ซึ่งการปลูกพืช จะปลูกทั้งข้าว พืชกินราก กินหัว ผัก ไม้เลื้อย ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล ไม้สมุนไพร ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ประดับไว้ไล่แมลง เพื่อเป็นอาหารและใช้สอย
สัตว์ เป็นทั้งอาหาร และแรงงาน มูลของสัตว์นำมาใช้ฟื้นฟูบำรุงดิน และสัตว์ที่เลี้ยงไว้สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกร
รูปแบบการทำเกษตรประณีต
หลักสำคัญในการทำการเกษตร คือ การออกแบบแบ่งพื้นที่โดยในพื้นที่เกษตรกรต้นแบบจะมีการปลูกผักไว้กินเองเมื่อเหลือจึงจำหน่าย การปลูกผักแต่ละชนิดจะมีการแบ่งตามฤดูกาลมีการเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคและจำหน่าย เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู วัว ควาย ปลา กบ ฯลฯ ก็จะเป็นเงินออมที่มากกว่าการขายผักเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ระยะยาว ยังมีไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
การจัดการพื้นที่มีการเลือกพื้นที่ที่น้ำพอต่อความต้องการปลูกพืชตามแต่เจ้าของต้องการโดยปลูกที่ระดับยอดต่างกัน เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
การบำรุงดิน เกิดความรู้การใช้ปุ๋ยและน้ำหมักที่มาจากธรรมชาติ ปลูกพืชบำรุงดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว สาบเสือ ฯลฯ ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อช่วยสร้างอินทรียวัตถุให้พื้นที่
การเลี้ยงปลาน้ำจืด ประเภทกินพืชโตเร็ว เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาไน หรือปลากินพืชและสัตว์ เช่น ปลาดุก การขยายพันธุ์ปลา ปู กุ้ง หอย กบ ความรู้ในการเลี้ยงไก่ หมู วัว ควาย และการนำมูลสัตว์มาบำรุงต้นไม้
การไล่แมลง ความรู้ในการสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศของพืช เพื่อให้เกิดการควบคุมกันเองตามธรรมชาติ พบว่า สัตว์และพืชพื้นเมืองจะทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี การนำสมุนไพรมาทำการไล่แมลงเช่น ใบสะเดา ใบตะไคร้หอม ข่าแก่ ใบยูคาลิปตัส เป็นต้น
การปลูกพืช ความรู้ในการอยู่ร่วมกันของพืชในเรือนยอด พืชที่อยู่ในดิน เช่น หัวมัน ข่า ขิง พืชเรือนยอดสูงกว่าเล็กน้อย เช่น ตะไคร้ แมงลัก โหระพา ฯลฯ พืชเรือนยอดสูงขึ้น เช่น กล้วย น้อยหน่า มะม่วง ฯลฯ และระดับเรือนยอดสูงเสียดฟ้า เช่น มะพร้าว หมาก ยางนา ฯลฯ หรือพืชที่เป็นพี่เลี้ยงกัน เช่น ผักหวานกับตะขบ รวมทั้งนำพืชที่ทนแล้ง เช่น สะเดา ขี้เหล็ก กระสัง มาปลูกในที่แล้ง และนำพืชทนน้ำท่วมขัง เช่น กระเจียว ผักกะหล่ำมาปลูกเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่
การจัดการน้ำ ความรู้ในการเก็บกักน้ำให้เพียงพอจากการขุดสระ เจาะบ่อบาดาล สูบน้ำจากหนอง คลอง บึง รวมทั้งมีการใช้น้ำในแต่ละระบบอย่างเช่น น้ำหยด และละอองฝอย
ความรู้ในการจัดการ 1 ไร่แก้จน คือ ต้องทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างในพื้นที่ 1 ไร่ ไม่ทำเชิงเดี่ยว มีการพึ่งตนเอง ทำปุ๋ยใช้เอง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไล่แมลงด้วยวิธีธรรมชาติ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกด้วยตนเองโดยผสมผสานความรู้ในการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ มีการออกแบบผังการทำกิจกรรมแต่ละชนิดให้สอดคล้องกัน และมีการเกื้อกูลกันในระบบนิเวศ ลดรายจ่าย สามารถสร้างปัจจัยในการดำรงชีวิตในพื้นที่ของตนเองให้ได้ เพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกและลดต้นทุนการผลิต
เกษตรประณีต 1 ตารางเมตร
การทำเกษตรประณีต 1 ตารางเมตร ด้วยพื้นที่กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ขุดดินทำแปลงผักผสมกับแกลบและปุ๋ยชีวภาพ รดน้ำพรวนดิน และปลูกผักลงไปจนเต็มแปลงผัก 1 ตารางเมตรโดยรอบส่วนตรงกลางแปลงปลูกหน่อกล้วย 1 ต้นลงไปเป็นพืชพี่เลี้ยง มุมทั้งสี่ของพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่สามารถนำไปสร้างบ้านได้โดยมุมที่หนึ่งปลูกไม้สร้างบ้านที่มีใบและดอกให้กิน เช่น ต้นขี้เหล็ก ต้นแคป่า ต้นยอป่า ต้นสะเดา ต้นอีหล่ำ มุมที่สองปลูกไม้สร้างบ้านที่กินผลไม้ เช่น กระท้อน ขนุน ต้นค้อ ต้นหว้า มุมที่สาม ปลูกไม้สร้างบ้านที่มีกิ่งก้านสาขาไว้ทำของใช้ ทำของชำร่วย และทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น ต้นเต็ง ตันรัง ต้นมะค่าโมง ต้นมะค่าแต้ และต้นประดู่ มุมที่ปลูกไม้สร้างบ้านที่ให้น้ำมันเพื่อให้อนาคต เช่น ต้นยาง ต้นสะแบง ต้นกุง ต้นชาด เป็นต้น ควรทำแปลงเกษตรประณีต 1 ไร่ไว้ริมแม่น้ำหรือริมสระน้ำ ถ้าไม่มีสระหรือบ่อน้ำ ควรทำหลังบ้านหรือหลังห้องน้ำเมื่อสมาชิกอาบน้ำ ซักผ้า น้ำเหล่านี้จะถูกปล่อยให้ไหลลงแปลงผักเพื่อจะได้น้ำรดหน่อกล้วยและกล้าไม้สร้างบ้านทั้งสี่ต้นไปพร้อมกัน เมื่อกล้วยโตเต็มที่จะย้ายกล้วยไปทำแปลงใหม่ ถ้าไม้สร้างบ้านเบียดกันมากก็ล้อมไปปลูกที่อื่น ถ้าปลูก 1 ตารางเมตรไม่พอสามารถขยายพื้นที่ ปลูกเพิ่มเป็น 10 ตารางเมตรหรือ 100 ตารางเมตร
ที่มา : ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น