Subscribe:

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อยังชีพ

การเลี้ยงจิ้งหรีด

จิ้งหรีด เป็นแมลงที่สามารถพบได้โดยทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเจ้าจิ้งหรีดแดงทองลาย (จิ้งหรีดสะดิ้ง) มีขนาดประมาณ 4.85 x 1 ซม. และมีสีเหลืองปนน้ำตาล มักชอบกระโดด กินพืชต่างๆ เป็นอาหาร ปัจจุบันนี้คนนิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคโดยการทอดคั่ว,แกง,ห่อหมกและยำ ทั้งนี้จิ้งหรีดมีสารอาหารโปรตีนสูงและปลอดสารพิษ อีกทั้งจิ้งหรีดยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดสารอาหารได้ด้วย ถึงกระนั้นจิ้งหรีดก็เลี้ยงง่ายและขยายพันธุ์เร็ว จิ้งหรีดสามารถให้ผลผลิตสูงเชื่อว่าเหมาะที่เกษตรกรจะนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมหรือยังชีพได้ เกษตรกรสามารถใช้เวลาว่างจากการเพาะปลูกเพื่อมาดูแลจิ้งหรีดได้ภายในเวลา 1 ปี และสามารถจะเลี้ยงจิ้งหรีดได้ถึง 5 รุ่น จิ้งหรีดที่พบและรู้จักในประเทศไทย มี 4 ชนิด คือ


  1. จิ้งหรีดทองดำ นิยมเลี้ยงมากที่สุด มีสีดำ สีทอง สีอำพัน
  2. จิ้งหรีดทองแดง (จินาย)
  3. จิ้งหรีด (จิลอ หรือสดิ้ง) นิยมเลี้ยงเพราะรสชาติดี
  4. จิ้งโกร่ง (จิโป่ม)

วงจรชีวิตจิ้งหรีด มี 3 ระยะ คือ
  • ระยะไข่ ไข่มีสีเหลือง รวมเป็นกลุ่มอยู่ใต้ดิน ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน
  • ระยะตัวอ่อน จากไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อนจะลอกคราบ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาประมาณ 36-40 วัน
  • ระยะตัวเต็มวัย เป็นระยะมีปีกเต็มตัวแยกเพศได้ชัดเจน มีอายุเฉลี่ย 45-60 วันการวางไข่ ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ 600-1,000 ตัว โดยวางไข่เป็นรุ่นๆละประมาณ 4 รุ่นตัวละ 200-300 ฟอง

อุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งหรีดในอู่
  1. อู่จิ้งหรีดขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร โดยใช้ตาข่ายทำคอกจิ้งหรีด ด้านบนเย็บด้วยพลาสติกกันจิ้งหรีดออก ทำโครงไม้อู่ขนาดเดียวกันสำหรับผูกอู่
  2. อาหาร ใช้รำผสม และผักต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง หม่อน เป็นอาหารหลัก อาหารเสริมพวก หัวอาหารไก่ ปลา จะให้หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อยังชีพ ไม่ควรให้เพราะเปลืองต้นทุน
  3. ถาดน้ำ ถาดอาหาร
  4. ฟางแห้ง หญ้าแห้ง กาบมะพร้าว เพื่อให้จิ้งหรีดซ่อนตัว
  5. พลาสติกสำหรับรองอนุบาลจิ้งหรีดตัวเล็ก อายุ 1-15 วัน หรืออนุบาลในกะละมัง

วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด
  1. รองพื้นด้วยอู่พลาสติก กลัดไม้พลาสติกกับขอบอู่ให้สูง ประมาณ 30 เซนติเมตร
  2. วางถาดไข่บนพลาสติก จำนวน 4 ถาดต่ออู่ (ราคาซื้อ 20 บาทต่อถาด)
  3. ใช้ฟางแห้ง หญ้าแห้ง หรือกาบมะพร้าวคลุมบนถาดไข่พอสมควร ดูแลถาดไข่อย่าให้แห้งมากถ้าแห้งควรพ่นละอองน้ำบนถาดไข่
  4. เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวควรให้น้ำโดยใช้สำลีชุบน้ำวางบนถาดเป็นจุด ๆ ประมาณ 3 จุด เมื่อฟักออกมาหมด ให้อาหารโดยใช้รำใส่ถาดวางไว้ประมาณ 3 จุด เสริมด้วยยอดผักบุ้งอ่อนให้ด้วย
  5. ดูแลให้น้ำอาหารและผักทุกวัน สังเกตศัตรูพวกมด จิ้งจก ตุ๊กแก นก มารบกวน
  6. เมื่อเลี้ยงได้ ประมาณ 15-18 วัน จิ้งหรีดจะโตให้นำพลาสติกรองออก เลี้ยงดูตามปกติ
  7. เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 30 วัน ก็สามารถจับมาบริโภคได้ เมื่ออายุ 40 วัน จะเป็นตัวเต็มวัยอายุ 45 วัน วางถาดไข่ให้วางไข่ โดยใช้ทราย แกลบดำ หรือดินร่วนชื้น วางประมาณ 2 วันเอาออก แล้วเปลี่ยนถาดใหม่สามารถวางไข่เพื่อขายได้ราคาถาดละ 20 บาท
  8. ผลผลิตต่ออู่ประมาณ 3 กิโลกรัม แล้วแต่จะใส่ถาดไข่มากหรือน้อย

ที่มา : ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านดงบัง จังหวัดขอนแก่น
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น