Subscribe:

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเกษตร “5 ไร่ 1 ล้าน”

เป็นแนวทางการทำการเกษตรที่เน้นการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองให้พออยู่ พอกิน พอใช้ ก่อนเป็นพื้นฐาน ส่วนที่เหลือจึงทำบุญ แบ่งปัน เก็บสำรอง แลกเปลี่ยน แล้วจึงขายสร้างรายได้ให้ครัวเรือนซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 (ขั้นพื้นฐาน) และอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ มีการวางแผนการผลิตของตนเองทั้งด้านเกษตร และประมง (ด้านปศุสัตว์อยู่ในระหว่างเตรียมวางแผนเลี้ยงหมู) เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรภายในฟาร์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีแนวความคิดที่ใช้ในการวางแผนการผลิตในพื้นที่ 5 ไร่ มาจากแนวคิดการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่มุ่งเน้นให้เกษตรกร รายย่อย ซึ่งมีที่ดินทำกินจำนวนน้อย มีการผลิตแบบพอเพียงให้ตนเองพออยู่ พอกิน พอใช้ก่อนเป็นพื้นฐาน เน้นการพึ่งตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร รวมทั้ง ยังใช้แนวความคิดในเรื่องของ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นแนวคิดของการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน มาเป็นแนวทางในการวางแผนการผลิตในการปลูกพืชในพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการบริโภคอุปโภค (พออยู่ พอกิน พอใช้) ไปพร้อมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร ฟื้นฟูระบบนิเวศ และบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน


นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่า เกษตรกรควรจะมีความมั่นคงในด้านรายได้ และสามารถปลดหนี้ได้ต่อไปในอนาคต โดยเกษตรกรควรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในฟาร์มที่เหลือจากการบริโภค แบ่งปันและแลกเปลี่ยน รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้น หรือไม้เศรษฐกิจไว้เพื่อเป็นบำนาญชีวิต ซึ่งถือเป็นการออมอย่างหนึ่งเนื่องจากไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ และเป็นหลักประกันทางด้านเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้ในอนาคต นอกจากนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เป็นบ่อเกิดของต้นน้ำลำธาร และระบบนิเวศ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้
  • การจัดการพื้นที่  เป็นการทำการเกษตรที่มีความหลากหลายของกิจกรรมการผลิต โดยมีการจัดการพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ แบ่งเป็นสระน้ำ 2 สระ (ร้อยละ 30) พื้นที่เพาะปลูก (ร้อยละ 67.5) และที่อยู่อาศัย (ร้อยละ 2.5) มีกิจกรรมด้านการเพาะปลูกพืชภายใต้แนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มีการทำประมงเลี้ยงปลา และกบ และมีการเลี้ยงสัตว์สำหรับไว้บริโภคในครัวเรือน
  • การจัดการน้ำ  มีสระกักเก็บน้ำโดยคำนวณปริมาณน้ำให้เพียงพอกับระบบการผลิตทั้งหมดตลอดปีเนื่องจากในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน จึงขุดสระกักเก็บน้ำเพิ่มอีกหนึ่งสระ (ขนาด 20 เมตร x 80 เมตร x 6 เมตร) จากที่มีอยู่เดิมจำนวนหนึ่งสระ ให้มีความลึก 4 ชั้นเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการอยู่อาศัยของปลาและพืชน้ำแต่ละชนิด ส่วนสระเดิม (ขนาด 20 เมตร x 30 เมตร x 6 เมตร) เป็นสระน้ำสำรองไว้เติมน้ำให้กับสระที่สอง มีการวางระบบการส่งน้ำ และการควบคุมปริมาณน้ำภายในฟาร์มให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ที่เป็นที่ลาดเอียงเล็กน้อยด้วย
  • การจัดการแรงงาน  ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก เนื่องจากขนาดพื้นที่ไม่มากนัก ทำเพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ เป็นพื้นฐานก่อน
  • การจัดการพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิต  ใช้พันธุ์พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามภูมิภาค โดยเก็บเมล็ดพันธุ์มาเพาะทั้งพืชผักสวนครัวและเพาะพันธุ์ต้นกล้าไม้ยืนต้น โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงไม่พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเพราะสามารถผลิตได้เองทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ สารสกัดไล่แมลงจากเศษอินทรีย์วัตถุที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทำให้ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมด้วย
  • การใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
    1. มีการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับดิน เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในดินที่มีอยู่ในธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ปรับปรุงบำรุงดิน มีการใช้เทคนิคการผลิตที่ใช้วิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เช่น ในเรื่องของการเตรียมดินการไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน การห่มดินด้วยฟางเพื่อแก้ปัญหาดินเลว (ขาดความอุดม-สมบูรณ์) การใช้หญ้าแฝกปลูกรอบคูน้ำภายในฟาร์มเพื่อช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นภายในดินให้แก่พืช การใช้สมุนไพรที่ได้จากป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
    2. การออกแบบขุดสระน้ำให้มีความลึก 4 ชั้น เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการอยู่อาศัยของปลาและพืชน้ำแต่ละชนิด โดยเป็นการเลี้ยงปลาที่ให้ปลาหาอาหารกินเองตามสภาพธรรมชาติและมีความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน โดยปลาดุก และปลานิล สามารถหาอาหารกินได้จากพืชน้ำในสระซึ่งมีถึงสี่ระดับ ส่วนปลาหมอซึ่งเป็นปลากินเนื้อจะกินลูกปลานิลเป็นอาหาร ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันได้อย่างเหมาะสม
    3. การปลูกพืช 5 ระดับที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศเพื่อให้มีลักษณะใกล้เคียงกับป่าในธรรมชาติภายใต้แนวคิด “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” การปลูกปาล์มน้ำมัน และไผ่ให้เป็นรั้วธรรมชาติรอบพื้นที่ฟาร์มเพื่อช่วยปะทะลม และกันละอองสารเคมีที่มากับลม
  • การใช้พลังงานทดแทนจากแก๊สชีวภาพซึ่งใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์การนำแผงโซล่าเซลล์ที่เก่าและชำรุดมาปรับปรุงเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน และยังใช้เปิดไฟล่อแมลงในตอนกลางคืนเพื่อให้เป็นอาหารปลา และกบที่เลี้ยงอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีแบบชาวบ้านที่เรียบง่าย และมีต้นทุนต่ำ
  • ระบบตลาดและการกำหนดราคา  มีการขายผลผลิตที่บ้านของตนเอง โดยให้ผู้ซื้อเข้ามาเลือกเก็บผลผลิตให้พื้นที่เป็นเสมือนซุปเปอร์มาเก็ต ไม่มีการผ่านพ่อค้าคนกลาง (แต่ไม่ได้เน้นขาย เหลือจากบริโภคจึง แบ่งปัน แลกเปลี่ยนกันแล้วจึงขาย) ทำให้ไม่มีต้นทุนในการขนส่ง และสามารถกำหนดราคาได้เอง ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของตลาดตามทฤษฎีใหม่ คือ เป็นตลาดที่บ้าน ตลาดใกล้บ้าน หรือ ตลาดชุมชน ซึ่งจะเป็นลักษณะของตลาดเฉพาะกลุ่ม คือมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่แน่นอนที่สนใจซื้อสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เป็นผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษ หรือ สินค้าเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน

ประโยชน์ของการทำการเกษตร “5 ไร่ 1 ล้าน”
  1. ด้านเศรษฐกิจ : เนื่องจากแนวความคิดไม่ได้เน้นการขายผลผลิตเป็นหลักแต่จะเน้นการให้ตนเองพออยู่ พอกิน พอใช้เป็นพื้นฐานก่อน ส่วนที่เหลือจึงทำบุญ แจกจ่าย แบ่งปันให้ กับญาติมิตร เพื่อนบ้านเก็บสำรอง และแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน แล้วจึงขายโดยมีการขายที่บ้านของตนเอง ทำให้เรื่องรายได้ไม่ใช่สิ่งสำคัญหรือปัจจัยหลัก เนื่องจากสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลดการพึ่งพาจากภายนอกโดยเฉพาะในเรื่องของอาหารคือปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก การนำไม้ที่ปลูกมาใช้สอยในครัวเรือนทำให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีการทำการเกษตรที่ไม่พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้น หรือ ไม้เศรษฐกิจร่วมด้วยตามแนวทางของป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วไม้ยืนต้นยังสามารถเป็นบำนาญชีวิตในอนาคตด้วย
  2. ด้านสังคม : เป็นการผลิตทางการเกษตรเพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ ก่อนเป็นพื้นฐาน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการสร้างสังคมเอื้ออาทร และมีความปรารถนาดีต่อกัน ส่งผลให้ชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน มีความรักใคร่ สามัคคีกัน สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้โดยรวมพลังกันในรูปกลุ่มเพื่อไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน
  3. ด้านสิ่งแวดล้อม : การทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เป็นระบบที่ก่อให้เกิด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รวมทั้ง เป็นระบบเกษตรที่อิงธรรมชาติ และคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแนวคิดของการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ป่าไม้ ดิน และต้นน้ำลำธาร รวมทั้งระบบนิเวศเพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้



ที่มา : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จังหวัดระยอง
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"   

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น