Subscribe:

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แนวคิดการรวมกลุ่มตามแนวการพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่ (กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว)

กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียวเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันภายหลังที่ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจในการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว การบุกรุกทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม และการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค กลุ่มได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2543 ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มจำนวน 37 คน ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 600 คนจาก 32 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว โดยกลุ่มดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้รับไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตร และสถานที่การฝึกอบรมรวมทั้งมีการสาธิตกิจกรรมการเพาะปลูกทางการเกษตรโดยไม่พึ่งพาสารเคมี ตลอดจนการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยศูนย์ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานหลักการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอนตามลำดับดังนี้

ขั้นที่ 1 กิจกรรมพึ่งตนเอง
 
กลุ่มยึดหลักการ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผักผลไม้ให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในชุมชนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้วจึงแบ่งปัน และนำออกจำหน่ายสู่ตลาดภายใน และภายนอกชุมชน มีระบบการบริหารจัดการกลุ่มตามโครงสร้างด้านคุณธรรม มีวิถีชีวิตเรียบง่ายพออยู่พอกิน บริโภคผลผลิตที่ทำใช้เองภายในชุมชนและพอเพียง พึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายโดยการสร้างสิ่งอุปโภค/บริโภคภายในชุมชน เช่น การทำปุ๋ย และพลังงานทดแทน เป็นต้น

ขั้นที่ 2 กิจกรรมพึ่งพิง
 
กลุ่มได้พัฒนาจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรโดยมีสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกสามัญที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่วังน้ำเขียวและสมาชิกวิสามัญ ทั้งที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งอยู่นอกพื้นที่ กลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือและช่วยเหลือกันภายในชุมชนให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชนอย่างเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน โดยมีกิจกรรมในรูปแบบดังนี้
  • ส่งเสริมการผลิตผักไร้สารพิษ ให้คำแนะนำการปลูกผักไร้สารพิษโดยการจัดโควต้าการผลิตผักให้กลุ่ม และจัดวงรอบการผลิตเพื่อให้ผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
  • การรวบรวม มีโรงงานรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรโดยไปรับผลผลิตจากแปลงผักของสมาชิก เพื่อจัดส่งตามตลาดและผู้จัดจำหน่าย
  • การคัดแยกบรรจุภัณฑ์ สมาชิกจะตกแต่งผักที่โรงรวบรวมผักและบรรจุผลผลิตภายใต้สัญลักษณ์องค์กร
  • การจัดจำหน่าย สหกรณ์จะส่งผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดและผู้บริโภค
  • การธนาคารกลุ่ม ให้บริการชำระค่าผลผลิตของสมาชิกโดยสมาชิกทุกคนจะมีเงินฝากกับธนาคาร
  • การส่งเสริมอาชีพ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านจะได้รับการสนับสนุนให้ทำอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ขั้นที่ 3 กิจกรรมพึ่งพา
 
ศูนย์ได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาปฏิบัติให้เป็นธรรมมีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ ในการสร้างขยายเครือข่าย เป็นแหล่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม และพัฒนาคุณธรรมเพิ่มศักยภาพการดำเนินวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันศูนย์ได้สร้างเครือข่ายกับภาครัฐ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำกสิกรรมไร้สารพิษจนได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์มาตรฐานของไทย ภายใต้โครงการความปลอดภัยด้านอาหารจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับการขยายเครือข่ายกับองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเป็นภาคีกับสถาบันบุญนิยมภายใต้การเสริมสร้างความเข้มแข็ง เป็นชุมชนต้นแบบด้านคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนศูนย์ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าไม้ มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกันระหว่างคน สัตว์ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม

ที่มา : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้านโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครราชสีมา
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น