Subscribe:

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การทำเกษตรธาตุ 4

เกษตรธาตุ 4 คือ คน, พืช, สัตว์ มีธาตุทั้ง 4 คือ น้ำ ดิน ลม ไฟ มากน้อยต่างกัน การทำเกษตรธาตุ 4 จะต้องมีความรู้เรื่องธาตุและสามารถแยกแยะความเหมาะสมของพืชที่จะนำมาปลูกในหลุมเดียวกันและดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา

ปรัชญาเกษตรธาตุ 4 คือ ต้องทำด้วยตัวเอง ทำในปริมาณที่น้อย ทำเพื่อพอกินและมีความสุขต้องทำไปข้างหน้า และก็ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องรีบร้อน ทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องไปคิดถึงค่าอาหาร ค่าปุ๋ย ค่าแรง หรือแม้แต่ค่าหนี้ มีเงินเราก็กิน ไม่มีเงินเราก็กิน

ความรู้เรื่องธาตุ และธาตุของต้นไม้แต่ละชนิด

  • ธาตุน้ำ รสจืด เช่น มังคุด กล้วย จำปาดะ อ้อย มะม่วง ชมพู่
  • ธาตุดิน รสฝาด, ขม เช่น ละมุด สะตอ เหรียง ใบยาสูบ
  • ธาตุลม รสเฝื่อน เช่น ลองกอง ลางสาด ผักเสี้ยนผี
  • ธาตุไฟ รสเผ็ด, ร้อน เช่น ทุเรียน พริก ส้ม เป้า ฝนแสนห่า ไฟเดือนห้า พาหมี

เทคนิคเกษตรธาตุ 4 การขยายพันธุ์พืช

ต้นไม้ที่ปลูกด้วยเมล็ดจะมีรากแก้วที่แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการปลูกที่ดีที่สุด เนื่องจากเราจะได้ต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทนต่อโรค และสภาพภูมิอากาศมีระบบรากสมบูรณ์ทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่ดีกว่าต้นแม่ด้วย ในการที่จะเอาเมล็ดมาปลูก ควรนำมาปลูกหลายเมล็ด หรือหลากหลายสำหรับการคัดเลือกเมล็ดที่มาปลูกควรเลือกเมล็ดในลักษณะดังนี้
  1. เลือกเมล็ดที่ไม่ลีบ บอบบางหรือแตกง่าย
  2. เลือกเมล็ดที่โต หากเป็นเมล็ดทุเรียน ให้เลือกเมล็ดที่อยู่ส่วนกลางหรือส่วนหัวของก้าน
  3. ไม่ควรเลือกเมล็ดที่มีรอยหนูกัด หรือมีหนอนกิน

เคล็ดวิธีในการเลือกเมล็ดมาปลูก

เคล็ดลับ คือ หากเราซื้อผลไม้มาหนึ่งลูก เราอย่าผ่าตรงกลางหรือตรงส่วนใดส่วนหนึ่ง จะต้องผ่าตามยาว ถ้าเราผ่าตามยาว เมล็ดเราก็นำมาปลูกได้ แต่ถ้าเราผ่าตรงกลางเมล็ด ไม่ควรจะนำมาปลูกเด็ดขาด

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบรากของพืช

พืชแต่ละชนิดมีระบบรากที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการหาอาหารของพืช ดังนั้น ควรดัดแปลงพื้นที่และกระบวนการปลูกโดยคำนึงถึงระบบรากเป็นหลัก เช่น มังคุด เป็นพืชที่มีระบบรากลึกต่างจากพืชชนิดอื่นมีการหาอาหารในแนวลึก จึงควรปลูกร่วมกับทุเรียนซึ่งมีระบบรากที่ตื้นและชอบหาอาหารบริเวณไกลจากต้น คือบริเวณปลายเงาของทรงพุ่มของต้น สำหรับต้นลองกอง ลางสาด จะชอบกินอาหารบริเวณใกล้กับลำต้น ซึ่งไม้ผลเหล่านี้มีระบบรากฝอยอยู่มาก ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าหากปลูกร่วมกันแล้วจะแย่งอาหารกัน

วิถีชีวิตเกษตรธาตุ 4

การเกื้อกูลและพึ่งพากัน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และพืช หรือองค์ประกอบในสากลโลกล้วนแล้วเป็นเช่นนี้ทั้งนั้น รูปแบบนี้เองจึงเป็นแนวทางในการนำไปสู่การดำเนินชีวิต การรักษายามป่วยไข้การประกอบสัมมาอาชีพ การอยู่ร่วมกันของสังคม หรือแม้แต่การทำเกษตรก็ตาม ก็ได้นำปรัชญา หยิน - หยาง ธาตุ 4 มาอธิบาย พืชนั้นมีทั้ง พืชรากกว้าง ย่อมสอดประสานกับพืชรากแก้วลึก ไม้พุ่มเตี้ยพึ่งพิงไม้พุ่มสูงไม้เล็กพึ่งพาอาศัยไม้ใหญ่ และไม้เนื้อร้อนชอบที่จะอาศัยไม้เนื้อเย็น หรือไม้รำไรย่อมงอกงามได้ใต้ร่มไม้กลางแจ้ง

การทำการเกษตรแบบพื้นบ้านแต่เดิมนั้นจะคำนึงถึงสภาพของพื้นที่ดิน โดยมักจะเลือกเอาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ทรัพยากรลดลงชาวบ้านจึงมีการปรับตัวมากขึ้น เห็นคุณค่าและความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงชีพกับสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจาก การพัฒนาเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ได้ก่อให้เกิด ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมกับพื้นที่และทดแทนขึ้นใหม่

คนในสมัยก่อนไม่ค่อยให้ความสำคัญ กับการทำสวนมากนักจะมุ่งอยู่กับการทำไร่ทำนาเป็นหลัก แต่ก่อนการทำไร่ทำนาต้องคำนึงถึงกับจำนวนคนในครอบครัว ถ้ามีผู้หญิงมากก็จะทำนามาก ผู้ชายไถเตรียมดินและผู้หญิงจะเป็นผู้ดำนา และบางครั้งก็มีการออกปากกินวาน หมายถึง การบอกกล่าวชาวบ้านใกล้เคียงให้มาช่วยเหลือ เมื่อถางป่า จัดเผา เตรียมพื้นที่เสร็จแล้วก็จะปลูกข้าว หากมีที่หรือจะปลูกมะเขือ พริก ตะไคร้ ข่า แตงกวา ไม้ผล เป็นต้น การปลูกไม้ผลจะให้ความสำคัญน้อย เนื่องจากมักจะได้ใช้สอยตามริมรั้วข้างบ้าน ปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติโดยไม่ได้หวังผล การปลูกด้วยเมล็ดตามวิธีของคนในสมัยก่อน ต้นไม้จะมีอายุยืน มีรากแก้วที่แข็งแรง และฝังลึกลงในดิน และให้ผลผลิตตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ถ้าใส่จะใช้ปุ๋ยคอก หรือเศษหญ้าที่เผาปนกับดิน ไม่ต้องซื้อ

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบธาตุ 4

จากการศึกษาและประสบการณ์ด้านแพทย์แผนโบราณ โดยเชื่อว่าไม้ทุกชนิดมี 4 ธาตุอยู่ตัวแต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งในแต่ละต้นมากน้อยต่างกัน เช่น ต้นมังคุด มีธาตุดินกับธาตุน้ำมาก ธาตุไฟและธาตุลมน้อย ยางพารามีธาตุไฟมาก ต้นกล้วยมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น จากการทดลองเอาไม้ผลชนิดต่างๆ มาทดลองปลูกรวมกันในสวนได้พบว่า ต้นไม้ที่มีธาตุเหมือนกันไม่ควรเอามาปลูกร่วมกัน แต่ถ้าจะปลูกรวมกันต้องเอาไม้ผลอย่างอื่นมาร่วมด้วย หรือไม้ผลที่มีธาตุต่างกันมาร่วมกันได้ เช่น ถ้ามีธาตุไฟมาก ก็นำพืชที่มีน้ำมากมาปลูกใกล้กันเพื่อจะได้พึ่งพาต่อกัน ทำให้ออกดอกออกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นต้น

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต่างระดับ

ต้นไม้แต่ละต้นจะขึ้นอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน เช่น ไม้ผลประเภท มังคุด ลองกอง ลางสาด จะเป็นพันธ์ุไม้ขนาดกลาง และต้องการแสงแดดร่มปานกลาง สามารถปลูกถัดลำดับลงมาและไม่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้ชนิดอื่น ส่วนพืชชนิดสูงสามารถปลูกให้อยู่รวมกันกับพืชที่ขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนพื้นที่ว่างสามารถปลูกพืชประเภท พริก ตะไคร้ สมุนไพร แทรกเข้าได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชต้องสังเกตด้วยว่าพืชแต่ละชนิดให้ผลผลิตตรงส่วนไหน ตามปลายยอด ปลายกิ่ง หรือตามลำต้นและหากมีไม้ป่างอกมาในแปลง ไม่ควรตัดทิ้ง เนื่องจากต้นไม้บางชนิดเป็นประโยชน์กับคน พืช และสัตว์

การทำเกษตรธาตุ 4 มีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนดังนี้

ย. ที่ 1 ยั่งยืนต่อชีวิต คือ ต้องทำให้ชีวิตทั้งคน พืช สัตว์ ยั่งยืน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ตาย ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าทุกอย่างมีเกิดแล้วมีดับ การทำเกษตรรูปแบบนี้ใช้ปัญญานำโดยคิดเสมอว่า ทำแล้วไม่เป็นอันตรายกับคนอื่นเพราะทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนทำโดยไม่มีความรู้หรือรู้แต่คาดไม่ถึง ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้าในแปลง เพื่อจะปราบหญ้าแต่หารู้ไม่ว่าได้ทำลายพืชสมุนไพรและสัตว์ไปหลายชนิด และยังมีสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อม เวลาฝนตกสารเคมีก็จะไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า (แปลงของคนใกล้เคียง) และจะไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำเสียและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ถ้าทุกคนสามารถลดละ เลิกการใช้สารเคมีก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้น

ย. ที่ 2 ยั่งยืนต่อต้นน้ำ คือ ต้องคำนึงถึงป่าต้นน้ำ และมีวิธีจัดการป่าและน้ำอย่างถูกวิธีและต้องช่วยกันสร้างป่าเพื่อเพิ่มน้ำและปลูกไม้เสริมในแปลงของตัวเองเท่ากับเราได้รักษาป่าและต้นน้ำ “ป่าอยู่รอด เราอยู่ได้

ย. ที่ 3 ยั่งยืนต่อดิน คือ ไม่ใช้สารเคมีทำลายหน้าดิน (ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้า) เพราะสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อมเมื่อใช้ไปนานๆ ก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้หรือต้องลงทุนทั้งเงินทั้งแรงมากขึ้น

ย. ที่ 4 ยั่งยืนต่อผลผลิต คือ การปลูกพืชหลายชนิดในแปลงให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปีเช่น ไม้ผล ไม้ใช้สอย ผักพื้นบ้าน ไม้เศรษฐกิจ ฯลฯ

ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทเกษตรธาตุ 4 จังหวัดสงขลา
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น