Subscribe:

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

ความสำคัญของน้ำในการปลูกพืช : ในร่างกายของคน สัตว์ หรือพืช ต่างมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ คน สัตว์ พืชต่างก็ต้องการน้ำคนและสัตว์ใช้น้ำในการดื่มกิน ใช้อาบเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายและชำระสิ่งสกปรกออก ส่วนพืชก็ต้องการน้ำมาละลายธาตุอาหาร บำรุงลำต้น ดอก ใบ เพื่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์

น้ำยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทั้งคน สัตว์และพืช น้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกผัก ทั้งนี้เพราะว่าเป็นพืชอวบน้ำ มีน้ำอยู่ภายในมากจึงต้องการน้ำมากในการปลูกผัก จึงควรมีวิธีการที่จะให้มีน้ำในการเพาะปลูกตลอดเวลา โดยการสงวนรักษาน้ำที่มีให้อยู่ในดินมากขึ้น และอีกวิธีก็คือ การหาแหล่งกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในยามขาดแคลน

การสงวนรักษาน้ำ

ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีมีปริมาณมาก แต่ละปีจะมีช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นความจำเป็นที่จะต้องสงวนรักษาน้ำ ทำได้หลายวิธีเช่น

  1. การชะลอการไหลของน้ำ เพื่อให้ฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีมีโอกาสซึมลงดินให้ได้มากที่สุด ควรทำการชะลอความแรงของกระแสน้ำ เช่น การปลูกพืชต่างระดับ การเปลี่ยนทิศทางไหลของน้ำ
  2. การปลูกพืชต่างระดับผสมผสานคละกัน ชะลอความแรงของน้ำฝนที่ตกลงมา ไม่ให้ตกลงแรงจนทำให้ดินแน่นซึมน้ำไม่ได้ นอกจากนี้การปลูกพืชต่างระดับกันจะเป็นการช่วยให้ดินเก็บน้ำเพื่อใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยพืชได้รับน้ำเพียงพอกับความต้องการ ตัวพืชที่ปลูกก็ช่วยเกื้อกูลกันไปด้วย
  3. การเพิ่มอินทรียวัตถุ ซากพืชต่างๆ ลงไปในดินและการคลุมดิน ให้คลุมดินไว้ด้วยเศษใบไม้ ใบหญ้า ซากพืชเหล่านี้จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารกลับคืนสู่ดิน เพิ่มหน้าดิน เศษใบพืชเหล่านี้ยังช่วยให้ดินมีรูพรุน มีช่องว่างในดินที่เก็บกักน้ำได้ ซากพืชที่ยังไม่เน่าสลายก็ปกคลุมดินไม่ให้น้ำระเหยออกไป และทำให้อุณหภูมิในดินเย็น สิ่งมีชีวิตในดินทำการย่อยสลายได้ดีขึ้น ในทางปฏิบัติในฤดูแล้ง เกษตรกรอาจตัดหญ้าให้สั้น เพื่อหญ้าจะได้ไม่ดึงน้ำในดินมาใช้ และให้นำเศษหญ้าที่ตัดนั้นมาคลุมดินไม่ไห้น้ำระเหยออกจากดิน
  4. ปลูกพืชที่ดึงความชุ่มชื้น  เกษตรกรควรให้ความสำคัญต่อการปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ที่มีระบบรากลึกในพื้นที่ฟาร์มของตนรากของพืชเหล่านี้ซอนไซหาอาหารและน้ำจากใต้ดินได้ลึกกว่าผักและไม่แย่งน้ำกัน โพรงที่เกิดจากรากพืชพวกนี้ก็เป็นที่เก็บน้ำตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งน้ำสะสมในไร่นาได้ ไม้ล้มลุกระยะยาว เช่น กล้วย ก็สามารถดึงความชุ่มชื้นให้กลับคืนสู่ดินได้อย่างรวดเร็วเพราะลำต้นอวบน้ำ สามารถนำมาตัดคลุมดินไว้ใต้ต้นไม้ที่ยังเล็ก สร้างความชุ่มชื้นค่อยๆปล่อยน้ำให้กลับคืนสู่ดินได้ นอกจากนี้ฤดูแล้งควรปลูกผักที่ใช้น้ำน้อย เช่น พริก มะเขือ เป็นต้น
  5. การให้น้ำอย่างประหยัด  ในภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ การให้น้ำผักควรเลือกวิธีที่เหมาะสม เช่น ผักที่เป็นไม้ยืนต้นอาจให้น้ำโดยการหยดน้ำ หรือฝังหม้อดินลงไปใกล้ลำต้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งการให้น้ำที่ได้ผลควรให้น้ำในรัศมีของพุ่มใบ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ตรงปลายราก ที่มีหน้าที่ดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงลำต้น ในการใช้สายยางฉีดควรติดฝักบัวด้วย ในการใช้สปริงเกอร์หรือให้น้ำตามร่องอาจจะมีความสะดวก แต่จะสิ้นเปลืองมากในกรณีที่มีน้ำน้อยไม่ควรใช้วิธีนี้ อีกประการหนึ่ง ควรมีวัสดุคลุมดินเช่น ฟาง เศษใบไม้ เพื่อเหมือนเป็นฟองน้ำคอยดูดซับน้ำและป้องกันการระเหยของน้ำด้วย

การกักเก็บน้ำ

การมีแหล่งน้ำไว้ในสวน ไร่ นา เป็นเรื่องที่เกษตรกรมีความต้องการมากที่สุดในสภาพที่พื้นที่ป่าลดลง แหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง น้ำในลำห้วย ลำธารก็แห้งขอดไป การจัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่เกษตรกรก็มีข้อกังวลในเรื่องทุนทรัพย์และการวางแผนเพื่อจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำ ดังนั้น การจัดการแหล่งน้ำจึงต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่



กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น