Subscribe:

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทำธุรกิจยังต้องใช้ระบบ ทำการเกษตรก็ต้องมีระบบ

การทำเกษตรให้เป็นระบบ หรือจะเป็นการทำอะไรก็ตาม หากคิดให้เป็นธุรกิจคือ ต้องมีผลกำไร จะต้องคิดทำให้เป็นระบบ มีการศึกษา ค้นคว้า เปรียบเทียบ ทดลอง และมีข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางและเป็นการวางแผนการดำเนินงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ได้เป้าหมายตรงหรือใกล้เคียงกับแบบที่ได้วางเอาไว้

แต่ทุกวันนี้ในภาคการเกษตรเอง ผู้ที่ทำระบบเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง มักจะอยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้สูง หรืออยู่ในกลุ่มทุนของบริษัทที่ผันตัวเองมาอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นธุรกิจการเกษตร แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่กับดินกับน้ำและผลผลิต มีน้อยรายที่คิดทำเกษตรให้เป็นระบบ รู้แค่ทฤษฎี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ด้วยสาเหตุต่างกัน

เป็นต้นว่า ในภาคเกษตรกร ที่ไม่สามารถทำเป็นระบบได้เนื่องจากขาดการพัฒนาและเรียนรู้เพิ่มเติม ลองสังเกตุง่ายๆ คือชาวนา ชาวไร่ ในสมัยผมเองซึ่งขอยกตัวอย่างครอบครัวตัวเอง เริ่มตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ทำสวนกรีดยาง ทำไร่ด้วยการปลูกข้าว ทำนาด้วยการดำนา พอตกทอดถึงคนรุ่นพ่อ ก็จะทำต่อกันมาแบบเดิมด้วยกรรมวิธีแบบเดิม โดยไม่มีการจดบันทึกหรือพัฒนาปรับปรุงระบบการผลิต ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความเคยชินและเรียนรู้ในแบบเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ พอตกถึงรุ่นลูก ทำให้ปัญหาเดิมๆ เกิดการสั่งสมกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก จึงต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนต้องเพิ่มขึ้น สมัยรุ่นแรก จนถึงสมัยปัจจุบัน แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตเลยจนกระทั่งมีการเข้าถึงของสารสนเทศ มีหนังสือพิมพ์ มีคู่มือ มีแบบอย่างและตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้น นั่นเป็นที่มาของการปฏิวัติกรรมวิธีการเกษตรในรูปแบบเดิมๆ

แต่เกษตรกรหลายคนก็ยังคงยึดติดที่จะทำในระบบเดิมๆ ไม่ต่อยอดระบบเกษตรอินทรีย์ให้เป็น เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคต ว่าการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจะให้ผลผลิตได้มากกว่าเดิมอย่างไร ที่สำคัญไม่สามารถมองเห็นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ตัวจะสามารถกินอิ่มนอนหลับได้ดีอย่างไร ภาพที่ชัดเจนเลยคือ ขาดการเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ว่า สิ่งไหนดีควรพัฒนาต่อ สิ่งไหนเสียควรทิ้งหรือพัฒนาให้ดีกว่าเดิม แต่กลับใช้ลักษณะการสืบทอดวิธีการ เหมือนภูมิปัญญา แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า ดีหรือไม่ดี

มันเลยทำให้เกษตรกรไทย ยังไม่ก้าวออกจากการปฏิรูปการเกษตรอย่างจริงจัง แม้จะมีหลายหน่วยงานและภาคส่วน พยายามรณรงค์และเข้าถึงเพื่อให้เกษตรกรได้มีความรู้ แต่ความเชื่อและความเคยชินจะเข้ามาบดบังวิสัยทัศน์ไว้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผู้ให้ข่าวสารเกิดความท้อแท้ไม่นานก็เลิกลากันไปเอง ปล่อยให้เกษตรกรต้องกลับไปทำเกษตรแบบเดิมๆ ปัญหาก็เกิดแบบเดิมๆ คือไม่หลุดพ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ เกษตรกร โดยเฉพาะหน้าใหม่ ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทำเกษตรแบบตามเพื่อน เห็นเพื่อนทำได้ดี ก็อยากได้ดีบ้าง ก็เลยทำตาม บางคนโชคดีเพื่อนบอกวิธีการ ก็ได้เรียนรู้กันไป แต่บางคนดำน้ำ ทำเกษตรแบบทดลองเดาสุ่มไปอย่างนั้น หากเพียงแค่กินอยู่ภายในครอบครัวก็ไม่มีปัญหา แต่นี่ลงทุนลงแรงไปหลายตังก์ พอขาดทุนก็บอกว่าไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แบบนี้เรียกว่า ทำเกษตรแบบไร้ระบบ เป็นการทำตามเพื่อน ซึ่งตัวอย่างก็ไม่ได้มีแค่ภาคการเกษตร ภาคอื่นๆ ก็มี เช่น การเปิดร้านขายของ เห็นเพื่อนเปิดก็อยากเปิดบ้าง สรุป เปิดเหมือนกันหมด สุดท้ายใครทุนหนากว่าก็อยู่รอด

ทำเกษตรอย่างเป็นระบบ

อย่างที่บอกไปแต่แรก หากทำเกษตรเพื่อให้ได้กำไร ก็ต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นระบบเกษตรอินทรีย์ด้วย…

การคิดก่อนทำ ว่าจะปลูกอะไรให้ได้ผลผลิต และไม่ควรปลูกอย่างเดียว แต่ควรปลูกหลายอย่างผสมผสานกันไปเพื่อลดความเสี่ยง เรียกว่า ไร่นาสวนผสม หรือจะดัดแปลงเป็นระบบการเกษตรทางเลือก โดยเลือกที่จะทำ การทำเกษตรแบบผสมผสาน เพราะความต้องการของตลาด ไม่ได้มีแค่สินค้าอย่างเดียว แต่มีหลายอย่าง การเก็บข้อมูลก่อนลงมือทำเป็นปีๆ จะมีโอกาสได้ข้อมูลที่มีข้อสรุปมากกว่าการเก็บข้อมูลเพียงระยะสั้นๆ มีความเข้าใจการผันผวนของตลาดมากกว่า และในบางครั้ง สินค้าบางอย่างที่คนทั่วไปคิดว่า ไม่น่าลงทุน ปลูกแล้วจะขายได้หรือ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป หากมีการเก็บข้อมูลเป็นระบบ เพราะสินค้าเกษตร เป็นสินค้าใช้แล้วหมดไป มีการต้องการอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

สำรวจตลาด การสำรวจตลาดเป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือ เราจะสามารถทราบแหล่งที่มาของผลผลิต และความต้องการของลูกค้าในหลายพื้นที่ รวมทั้งจำนวนความต้องการ มากน้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการในตลาดแทบทั้งสิ้น การคำนวณราคา รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ที่จะทำให้สินค้าราคาสูงหรือราคาต่ำ การสำรวจตลาดจะเป็นการเก็บข้อมูลที่ดีอย่างหนึ่ง

ทำเลที่ตั้ง ทำเลที่ตั้งไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงการขายของหรือหน้าร้าน แต่การทำเกษตรก็เช่นเดียวกัน ทำเลที่ตั้งเพื่อเป็นแหล่งผลิต สำคัญเท่าเทียมกับทำเลที่ตั้งของการขายสินค้า ลองนึกเล่นๆ ว่าความต้องการของตลาดอยู่ทางภาคเหนือ แต่ทำเลที่ตั้งของการให้ผลผลิตอยู่ภาคใต้ จะเกิดปัญหาในการขนส่งทันที และปัญหาในเรื่องงบประมาณและต้นทุนก็จะตามมา หากผลักภาระไปให้ผู้ซื้อ รับรองว่า อยู่ไม่ได้ และทำเลที่ตั้งในภาคการเกษตรก็มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น แหล่งน้ำ การคมนาคม แหล่งผลิตและแปรรูป ฯลฯ

คุณภาพสินค้า ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการผลิตและจำหน่าย ใครๆ ก็อยากได้สินค้ามีคุณภาพ หากแรกๆ ผลิตได้คุณภาพ แต่พอลูกค้าติดใจกลับลดคุณภาพลงแต่ราคาเท่าเดิม แบบนี้ในระยะยาวก็อยู่ไม่ได้ หรืออยู่ได้แต่ก็ไม่ทน จะเกิดปัญหาใหม่ตามมาเรื่อยๆ

ความต้องการระยะยาว เมื่อผลิตได้ ขายได้ ก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น แต่ต้องมาวิเคราะห์กันใหม่ว่า จะขายได้นานแค่ไหน และความต้องการยังอยู่ในระดับดีขึ้น หรือแย่ลงมากน้อยแค่ไหน ต้องคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาเหล่านี้ให้ครอบคลุมทุกส่วน แม้ว่าปัญหาส่วนนี้จะไม่สำคัญมากนัก แต่จะดีไม่น้อยหากมีการวางแผนไว้ เช่น การขายข้าว เมื่อรู้ว่าข้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความต้องการอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องมีการวางแผนให้รอบด้าน เช่น คู่แข่งในสินค้าเดียวกัน ระยะเวลาการผลิตของข้าวแต่ละสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน และความต้องการของลูกค้ามักมีโอกาสเปลี่ยนได้เสมอ

ที่มา : http://www.kasetorganic.com
กลับสู่หน้า "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น