Subscribe:

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การเพาะเห็ดตับเต่าแบบยั่งยืน

เห็ดตับเต่า เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ลักษณะดอกค่อนข้างใหญ่ หมวกเห็ดมนทรงกระทะคว่ำ ผิวมัน เนื้อแข็ง ดอกสีน้ำตาลเข็ม ด้านล่างหมวกมีสปอร์กลมเล็ก ๆ สีเหลือง ก้านหมวกอวบใหญ่ ยาว 4 - 8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 4 ซม. โคนก้านหมวกโป่งเป็นกระเปาะ ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ เมื่อผ่าดูเนื้อในเห็ดถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมเขียวเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ชาวภาคเหนือและภาคอีสานจะนิยมรับประทานกันมาก มีความต้องการของตลาดสูง ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อให้ราคาสูงมีการซื้อ – ขาย ถึงกิโลกรัมละ 80 -120 บาท ทางภาคเหนือเรียกว่า “เห็ดห้า” เนื่องจากมักเจอเห็ดตับเต่าอยู่ใต้ต้นหว้า(ต้นห้า) ทางภาคอีสานเรียกว่า“เห็ดผึ้ง” หรือ “เห็ดเผิ่ง” เพราะเมื่อนำเห็ดตับเต่าไปประกอบอาหาร สีของน้ำแกงจะเหมือนสีน้ำผึ้ง

เห็ดตับเต่า เป็นเห็ดราอยู่ในกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซา ( ectomycorrhiza ) คำว่า ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดรากับระบบรากของพืชอาศัยชั้นสูง โดยเห็ดรานั้น ต้องไม่ใช่ราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ส่วนรากพืชต้องเป็นรากที่มีอายุน้อยหรือรากขนอ่อน เอคโตไมคอร์ไรซา หมายถึง ไมคอร์ไรซ่าที่อาศัยอยู่บริเวณเซลล์ผิวภายนอกของรากพืช เส้นใยของเห็ดราจะประสานตัวกันเป็นแผ่น หรือเป็นเยื่อหุ้มอยู่รอบ ๆ รากช่วยหาน้ำและธาตุอาหารให้แก่รากบริเวณผิวดิน ลักษณะรากพืชจะบวมโตขยายออกทางด้านเส้นผ่าศูนย์กลางทำให้รากใหญ่ขึ้น รากจะมีลักษณะแตกกิ่งและแขนงเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีรูปร่างเป็นกระจุก เป็นง่ามหรือหลายง่าม มีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีขาว เหลือง น้ำตาล น้ำตาลแก่ ดำ หรือสีแดง ขึ้นอยู่กับอายุและชนิดของเห็ดรา (ไมคอร์ไรซาแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ซึ่ง ectomycorrhiza เป็น 1 ใน 7 กลุ่มนี้ )

การมีชีวิตอยู่ร่วมกันของเห็ดรานี้กับต้นไม้ มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อกระบวนการทางสรีรวิทยาและระบบนิเวศน์ของพืชป่าไม้ ตามรากของต้นไม้ในป่าธรรมชาติจะมีเชื้อราไมคอร์ไรซ่ากระจายอยู่ทั่วไป เช่น ป่าสน ป่าเต็งรัง ป่ายาง และสวนยูคาลิปตัส เป็นต้น การกระจายของราพวกนี้มีความสัมพันธ์กับสภาพทางภูมิศาสตร์ ความชื้น และปัจจัยทางระบบนิเวศน์ของป่าในทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่ เชื้อรากลุ่มเอกโตไมคอร์ไรซ่า จะเป็นราชั้นสูง ซึ่งสามารถสร้าง
ดอกเห็ดได้ดี มีทั้งที่ดอกเห็ดรับประทานได้ และเห็ดพิษ/เห็ดเมา โดยจะเกิดสร้างดอกเห็ดชูเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใต้ร่มไม้บริเวณรากพืชอาศัย

การอยู่ร่วมกันแบบนี้ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน เซลล์ของรากพืชและรา สามารถดูดซึมแร่ธาตุอาหารให้กันและกันได้ ต้นพืชได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเห็ดรา ส่วนเห็ดราได้รับสารอาหารจากต้นพืช ผ่านมาทางระบบราก เช่น พวกแป้งน้ำตาล โปรตีน และวิตามินต่าง ๆ นอกจากนี้ไมคอร์ไรซายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย

การแพร่กระจายเชื้อเห็ดตับเต่า

เกิดขึ้นได้หลายวิธี ได้แก่
1. สปอร์ของเห็ดที่บานเต็มที่แล้ว ถูกฝนชะล้างไปในบริเวณใกล้เคียง ที่มีพืชอาศัยอยู่ใกล้กัน
2. เส้นใยเห็ดราที่เจริญแพร่ขยายแตกแขนงไปในดิน วิธีนี้ ต้องมีพืชอาศัยชนิดเดียวกัน การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มีโอกาสแน่นอนกว่า
3.มนุษย์ เช่นชาวบ้านไปเสาะหาดอกเห็ดที่บานเต็มที่ มาขยี้ละลายในน้ำแล้ว นำน้ำนั้นไปรดบริเวณโคนต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัย วิธีนี้จะได้การแพร่กระจายที่กว้างขวางมาก
4. การเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้นหรืออาหารเหลว เพาะจนมีปริมาณมากพอแล้วนำไปปั่นกับน้ำ ทำให้เส้นเล็กละเอียด แล้วนำไปรดบริเวณที่เป็นพืชอาศัย หรือนำน้ำที่ปั่นนั้น ไปรดหรือคลุกดินที่จะใช้ปลูกกล้าของพืชอาศัยของเห็ดแต่ละชนิด วิธีนี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากราชนิดอื่น

พืชอาศัย เห็ดตับเต่าที่ขึ้นบนลำต้นพืช และบริเวณใต้ต้นไม้ เป็นการอาศัยแบบเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเชื้อราและเชื้อราไมคอร์ไรซา ยังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย ส่วนเชื้อราก็จะได้รับสารอาหารที่ต้นไม้ปลดปล่อยออกมาทางระบบราก ได้แก่ พวกน้ำตาล โปรตีน และวิตามินต่างๆ พืชอาศัยของเห็ดตับเต่า มีหลายชนิด ได้แก่ หว้า โสน ยางนา ไม้รัง มะกอกน้ำ มะม่วง ขนุน หางนกยูง ทองหลาง ลำไย มะขาม ส้มโอ ฯลฯ แต่เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะให้เกิดดอกเห็ดได้ในสภาพโรงเรือน เหมือนเช่นเห็ดอื่นๆ จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับรากต้นพืชอาศัย

วิธีการเพาะเชื้อเห็ดตับเต่า

ที่พบในปัจจุบัน มี 3 วิธี ได้แก่
1. เพาะเชื้อด้วยดอกเห็ดตับเต่าโดยตรง
โดยการนำดอกเห็ด(ยิ่งแก่ยิ่งดี เนื่องจากจะมีสปอร์มาก) นำมาสับแล้วนำไปฝังบริเวณใกล้ๆรากของพืชอาศัย หรือ อาจจะสับดอกเห็ดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำ แล้วนำไปราดบริเวณรากของพืชอาศัย เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด มีขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้

  1. นำดอกเห็ดตับเต่าที่แก่จัด มาบดหรือปั่นให้ละเอียด
  2. ผสมน้ำสะอาด 1 เท่าตัว ( น้ำสะอาดไม่มีกลิ่นคลอรีน )หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน
  3. ผสมน้ำสะอาดอีกประมาณ 2 – 3 เท่าตัวเพื่อเพิ่มปริมาณให้มีมากขึ้น
  4. ขุดหลุมลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ บริเวณร่มเงาชายพุ่มต้นพืชที่ต้องการเพาะเห็ดแต่ละหลุมขุดห่างกันประมาณ 1 ศอก ทำรอบร่มเงาชายพุ่มต้นพืช
  5. ใส่เชื้อเห็ดประมาณ 1 แก้วเล็ก ต่อ 1 หลุม
  6. กลบทับด้วยดินเหมือนเดิม รอเวลาประมาณ 1 – 3 ปี จะเกิดดอกเห็ด
หมายเหตุ บริเวณที่ปลูกเห็ด ให้ งด การใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี , ยาฆ่าหญ้า เป็นต้น และให้รักษาสภาพแวดล้อมให้มีความชุ่มชื้นอยู่สม่ำเสมอ

2. เพาะเชื้อด้วยเชื้อเห็ดที่เจริญบนอาหารวุ้น พี.ดี.เอ.
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ทำการทดลองเพาะเห็ดตับเต่า โดยนำดอกเห็ดมาแยกเชื้อบริสุทธิ์ บนอาหารวุ้น พี.ดี.เอ. ซึ่งมีส่วนประกอบของมันฝรั่ง น้ำตาลเด็กโตรส และ ผงวุ้น เชื้อเห็ดที่เจริญบนอาหารวุ้นพี.ดี.เอ.นี้ จะมีเส้นใยสีคล้ำเช่นเดียวกับสีของดอกเห็ด เมื่อเชื้อเห็ดเจริญจนเต็มอาหารวุ้น ก็นำเชื้อเห็ดออกจากขวด นำมาปั่น(หรือขยำ)ให้ละเอียดในน้ำ แล้วจึงนำไปราดบริเวณรากต้นพืชอาศัย

3. เพาะเชื้อด้วยเชื้อเห็ดที่เจริญบนเมล็ดข้าวฟ่าง
นำเชื้อบริสุทธิ์ของเชื้อเห็ดตับเต่าที่เจริญบนอาหารวุ้น มาเพาะขยายในเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว เมื่อเส้นใยเจริญเต็มที่ จึงนำไปถ่ายเชื้อลงบนพืชอาศัย โดยนำเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเชื้อเห็ดเจริญอยู่ มาขยำกับน้ำ กรองเอาแต่น้ำ นำไปราดบริเวณรากต้นพืชอาศัย (ไม่นำเชื้อบนเมล็ดข้าวฟ่าง ไปฝังบริเวณรากพืชอาศัย เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงในดินที่จะมากินเมล็ดข้าวฟ่าง) ต้องทำการปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าซ้ำบนพืชอาศัยต้นเดิมอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง เพื่อให้เชื้อเห็ดตับเต่าเข้าเจริญอยู่ร่วมกับรากพืช อาศัย ซึ่งภายใน 1- 2 ปี อาจจะยังไม่มีดอกเห็ดเกิดขึ้น เนื่องจากเชื้อเห็ดต้องการเวลาในการเจริญเพื่อเพิ่มปริมาณบริเวณรากพืชจนมากพอที่จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป

การเข้าอยู่อาศัยของใยเชื้อเห็ด จะเจริญดีมากที่บริเวณปลายรากอ่อน แต่ให้ใส่เชื้อที่โคนรากเพื่อให้เชื้ออาศัยอยู่บริเวณโคนราก แล้วค่อยๆแพร่ลามไปทั่วปลายราก เชื้อเห็ดจะใช้เวลาพัฒนา 1-3 ปี ต้นไม้ผ่านช่วงแล้งมา เมื่อได้ความชื้น จะแตกใบอ่อน รากอ่อน เส้นใยเห็ดก็รวมตัวเกิดเป็นดอกเห็ด หลังจากนั้น ตราบใดที่ต้นไม้ยังไม่ตาย ก็จะเกิดเห็ดได้ทุกปี ต้นยางนาอายุยืนมากจึงสามารถเก็บเห็ดได้ชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้น ให้พิจารณาพืชอาศัยด้วย หากพืชอายุยืน ก็สามารถเก็บเห็ดไปได้นานๆตามอายุพืช ปกติแล้ว การเกิดดอกเห็ดมีมากในฤดูฝนเพราะมีความชุ่มชื้นจากฝนความจริงแล้ว เห็ดตับเต่าสามารถเกิดได้ตลอดปี ถ้าความชื้นเหมาะสม ซึ่งเรียกว่า เห็ดนอกฤดู

การกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดตับเต่า

กรณีที่ต้นไม้ในบริเวณบ้านหรือสวนของเรา มีเชื้อเห็ดตับเต่าเจริญร่วมกับรากพืชแล้วโดยธรรมชาติ มักจะพบมากในฤดูฝน เพราะต้องอาศัยความชื้นในการกระตุ้นการเกิดดอกเห็ดเราสามารถกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดตับเต่านอกฤดูได้ โดยการให้น้ำแก่ต้นพืชอาศัยโดย ใช้ระบบสปริงเกอร์ โดยให้น้ำวันละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 วัน เว้น 5 วัน หลังจากนั้น ให้น้ำอีกสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พบว่าหลังจากให้น้ำประมาณ 2 สัปดาห์ จะพบดอกเห็ดตับเต่า เกิดขึ้นบริเวณใต้ทรงพุ่มของต้นพืชอาศัย เช่น ต้นหว้า มะขาม มะกอกน้ำ หรืออาจจะขึ้นติดกับโคนต้นพืชอาศัย และหลังจากให้น้ำเรื่อยๆ ก็มีดอกเห็ดตับเต่าขึ้นอยู่จนกว่าจะถึงฤดูฝน ซึ่งไม่ต้องให้น้ำ ก็จะมีดอกเห็ดตับเต่าขึ้นตามธรรมชาติ

เทคนิคการเพาะแบบชาวบ้าน

เกษตรกรท้องที่ตำบลสามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สังเกตพบว่าเห็ดตับเต่าชอบขึ้นตามที่ลุ่มปะปนกับต้นโสน เมื่อมีฝนตกลงมาพอสมควร ชาวบ้านจะเริ่มเผาวัชพืชตามพื้นที่ลุ่มริมคลองก่อน จากนั้นจะติดตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำเพื่อให้เมล็ดต้นโสน ที่จมฝังตามพื้นดินทีมีอยู่ตามธรรมชาติ งอกเจริญเติบโตเป็นป่าโสน เมื่อต้นโสนมีอายุประมาณ 1 เดือนเศษจะมีความสูงท่วมหัว เป็นช่วงจังหวะที่ชาวบ้านจะเข้าทำความสะอาดกำจัดวัชพืชใต้ต้นโสนอีกครั้งโดย ใช้วิธีถอนหรือถางต้น จะไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น การติดตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำแทนฝนตกพบว่าได้ผลเกินคลาด เห็ดจะเจริญเติบโตออกดอกก่อนกำหนด ก่อนที่ฝนจะตกมาตามฤดูปกติปัจจุบัน มีชาวบ้านท้องที่ตำบลสามเรือน เพาะเห็ดตับเต่าขายไม่ต่ำกว่า 200 ราย เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเพาะเห็ดได้มากกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

เกษตรกรท้องที่ ตำบลระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี สามารถผลิตเห็ดตับเต่าขายได้ตลอดปี พืชอาศัยคือมะกอกน้ำที่ปลูกบนคันนาแบบยกร่อง เทคนิคคือ เริ่มจากการโกยใบมะกอกน้ำที่ถูกย่อยสลายจมอยู่ในท้องร่อง โกยแล้วสาดกระจายบนคันนาให้ทั่วแปลง หว่านปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแห้ง กระจายบางๆ ด้านบนทับใบมะกอกน้ำ รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นเสมอ เมื่อรดน้ำต่อเนื่อง10 -15 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มแทงดอกขึ้นจากดิน การออกดอกเห็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับความชื้นในดิน ถ้าดินแห้ง เห็ดจะไม่ออกดอกเลย ดอกเห็ดตับเต่านอกฤดู มีคนมาซื้อถึงในสวน ดอกตูม กก.ละ 70 - 80 บาท ดอกบาน กก.ละ 50 บาท (ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชโดยเด็ดขาด เพราะเห็ดจะไม่ออกดอกเลย ) และเก็บเห็ดได้ต่อเนื่องอยู่นาน ปัจจุบันผลมะกอกน้ำราคาถูก การขายเห็ดมีรายได้มากกว่า การผลิตเห็ดตับเต่าปีหนึ่งทำได้หลายรุ่น จนกลายเป็นรายได้หลัก ปลูกมะกอกน้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าขาย ส่วนผลมะกอกน้ำนั้น ถือว่าเป็นผลพลอยได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากเห็ดตับเต่าแล้ว เราสามารถใส่เชื้อเห็ดอื่นๆที่บริเวณโคนต้นและใต้พุ่มพืชอาศัยเพื่อช่วยการเจริญของต้นไม้ โดยเฉพาะไม้รัง และไม้ตระกูลยางนา ได้อีกหลายชนิด เช่น เห็ดแดงเห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน เห็ดขิง เห็ดข่า เห็ดไคล (เห็ดหล่ม) เลือกดอกเห็ดแก่ๆ ผสมน้ำขยำให้สปอร์หลุด นำไปเจือจางด้วยน้ำ ใช้รดโคนต้นไม้ ทำกับต้นพืชเล็กๆจะโตเร็วมาก ทำกับต้นใหญ่ก็โตเร็วขึ้น สปอร์หลุด นำไปเจือจางด้วยน้ำ ใช้รดโคนต้นไม้ ทำกับต้นพืชเล็กๆจะโตเร็วมากทำกับต้นใหญ่ก็โตเร็วขึ้น

ในสภาพที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มาก บรรยากาศร่มเย็น ต้นไม้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเกิดเห็ดให้นำน้ำขยำดอกเห็ด มารดทั้งโคนต้นและใต้พุ่ม ต้องทำในฤดูฝน หรือรดน้ำให้ชุ่มชื้น ปีถัดไปจะเริ่มเกิดเห็ด และเกิดมากขึ้นๆ ในปีต่อๆ ไป ต้องหมั่นเดินดูใต้ต้นไม้ มองหาต้นไม้ที่เห็ดต่างๆ เหล่านี้ สามารถเจริญเติบโตและสร้างดอกเห็ดได้ ต้นไม้เหล่านี้ เช่น หว้า ชมพู่ ลำดวน แคทองหลาง โสน รำเพย ยี่โถ ชบา มะไฟ มะม่วง มะกอกบ้าน มะกอกน้ำ น้อยหน่า แคนา ส้มโอ ไทร ไม้ตระกูลยาง ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา ฯลฯ หลังจากนั้น เทน้ำที่มีสปอร์เชื้อเห็ดลงไปบริเวณรากต้นไม้เหล่านั้น ทำได้ทั้ง 3 วิธี ตามที่อธิบายมาข้างต้นแล้ว จะมีเห็ดให้เก็บได้ตลอดอายุขัยของต้นไม้นั้น

ในพื้นที่ดินเลว แต่มีความชื้นและร่มเงาเหมาะสม ต้นพืชที่มีไมคอร์ไรซ่าจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นพืชที่ขาดไมคอร์ไรซ่า เส้นใยของเชื้อราไมคอร์ไรซ่าจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวให้แก่รากพืชจะชอนไชหาอาหารบริเวณผิวดินลึก 10-20 ซ.ม. เพื่อหาอาหารและน้ำให้แก่ต้นพืช โดยเฉพาะจะดูดซับธาตุฟอสฟอรัส (P) ในอัตราที่สูง และยังดูดซับธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอื่น ๆ อีก จึงช่วยให้ต้นไม้มีการผลิดอก ออกผลเพิ่มมากขึ้น และช่วยผลิตสารที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์แสงให้แก่ต้นไม้ ช่วยเป็นเกราะป้องกันโรคบางชนิด ช่วยให้ต้นพืชเจริญเติบโตได้แม้จะเป็นดินเค็ม,ดินที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้ว, หรือดินพื้นที่สูง ต้นพืชที่มีไมคอไรซ่าจะให้ดอกเห็ดเป็นทั้งเห็ดกินได้ ( เช่น เห็ดไค เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก หรือเห็ดไข่ ) เห็ดกินไม่ได้(เห็ดพิษ ) และเห็ดสมุนไพร (Medicinal mushrooms) ต่างๆ (เช่นเห็ดหลินจือ) หลากหลายกว่า 1,000 ชนิด ดังนั้น เห็ดป่าไมคอร์ไรซ่า จึงมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตร และการป่าไม้ โดยเฉพาะเห็ดป่ากินได้ ซึ่งใช้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ที่สามารถเก็บเห็ดไปขายทำรายได้หรือทำอาหารให้แก่ชาวบ้านได้มาก

ที่มา : กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น