Subscribe:

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การปลูกพืชผักในครัวเรือน

การปลูกพืชผักในครัวเรือน


ผักสวนครัว เป็นผักที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือที่ว่างในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือนและทำให้ผู้ปลูกมีสุขภาพดีเนื่องจากได้รับประทานผักสดที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ และมีความปลอดภัยจากสารเคมี และลดรายจ่ายในครัวเรือน


(1) ข้อควรพิจารณา
  1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำไม่ไกลจากที่พักอาศัยเพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บมาประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ
  2. การเลือกประเภทผัก ควรเลือกปลูกผักให้มากชนิดเพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารที่หลากหลายเป็นผักที่สมาชิกในครอบครัวชอบบริโภค และเลือกปลูกผักให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และปลูกให้ตรงกับฤดูกาล
  3. แสงและร่มเงา มีความจำเป็นในการสังเคราะห์แสงของพืช เพื่อสร้างอาหารปริมาณแสงที่ได้รับในพื้นที่ปลูกแต่ละวันนั้นจะมีผลต่อชนิดของผักที่ปลูก แบ่งความต้องการแสงในการปลูกผัก ดังนี้
    • สภาพที่ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรปลูกพืชผักที่เจริญเติบโตในร่มได้ เช่น ชะพลูสะระแหน่ ตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า และกะเพรา เป็นต้น
    • สภาพที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรเลือกผักที่สามารถเจริญเติบโตได้ในแสงปกติเช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง พริกต่าง ๆ ยกเว้น พริกขี้หนูสวน

(2) ชนิดของผัก

ผักแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในเรื่องอายุการเก็บเกี่ยว และฤดูกาลเพาะปลูก การวางแผนการปลูกจะทำให้ได้ผลผลิตผักสม่ำเสมอ และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ โดยจำแนกผักตามอายุการเก็บเกี่ยว ดังนี้
  1. ผักอายุสั้น (น้อยกว่า 2 เดือน) ได้แก่ ผักชี ผักกาดหอม ผักกาดเขียวกวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้งผักกาดหัว ผักกาดขาว แตงกวา ข้าวโพดฝักอ่อน ปวยเหล็ง ผักโขม
  2. ผักอายุปานกลาง (2-4 เดือน) ได้แก่ กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว ถั่วแขกหอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ พริก แตงโม มะระ บวบ ฟังทอง
  3. ผักอายุยืนนาน (6-12 เดือน) ได้แก่ ถั่วลันเตา ผักกาดขาวปลี น้ำเต้า กระเทียม หอม มันฝรั่งกระเจี๊ยบ มันเทศ ข้าวโพดหวาน ถั่วแระญี่ปุ่น มันแกว ขึ้นฉ่าย
  4. ผักยืนต้น (มากกว่า 1 ปี) ได้แก่ กุยช่าย ผักหวาน มะเขือ ชะอม สะตอ ชะพลู โหระพากะเพรา ถั่วพู ตะไคร้ แมงลัก กระชาย ขิง หน่อไม้ฝรั่ง ข่า ขมิ้น

(3) ฤดูกาล

ควรเลือกปลูกผักสวนครัวให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพราะจะทำให้ดูแลรักษาง่าย ได้ฝักที่มีคุณภาพผลผลิตดี มีโรคและแมลงรบกวนน้อย ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักแต่ละชนิดดังนี้
  • พฤศจิกายน-มกราคม ควรปลูกหอมแบ่ง กุยช่าย กระเทียม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลีห่อกะหล่ำปม กะหล่ำดอก มะเขือเทศ ถั่วแระญี่ปุ่น
  • กุมภาพันธ์-เมษายน ควรปลูกผักชีหอม ผักบุ้งจีน ผักกาดหัว ถั่วฝักยาว แตงกวา แตงไทย มะระ ผักกาดเขียวปลี ผักคะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดขาว
  • พฤษภาคม-กรกฎาคม ควรปลูกผักคะน้า กุยช่าย บวบเหลี่ยม กวางตุ้งไต้หวัน ข้าวโพดหวานหอมแดง
  • สิงหาคม-ตุลาคม ควรปลูกผักชีลาว ผักโขม กุยช่าย ผักกาดขาว ผักกาดเขียวกวางตุ้ง หอมแบ่งมันแกว มันเทศ ผักกาดหอม ผักคะน้า ผักบุ้งจีน พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือยาว เป็นต้น

(4) ขั้นตอน/วิธีทำ

(4.1) การเตรียมดิน ผักสามารถปลูกได้ทั้งในพื้นดินโดยตรงหากไม่มีดินเพียงพอสามารถปลูกได้ในภาชนะที่มีความลึกตั้งแต่ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป เพื่อให้รากสามารถหยั่งลึกได้ สำหรับความกว้างของภาชนะขึ้นกับชนิดผักที่จะปลูก
  1. การเตรียมดิน ผสมดินต่อแกลบต่อปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ต่อ 1 ให้เข้ากันรดน้ำเพื่อให้มีความชื้น
  2. การเตรียมดินสำหรับการปลูกในพื้นที่ว่างหรือในแปลง
    • พรวนดิน ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน
    • ยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว กว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนความยาวตามลักษณะของพื้นที่ควรอยู่ในแนวทิศเหนือหรือใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง
    • ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร
(4.2) การดูแลรักษา
  1. การให้น้ำ พืชผักเป็นพืชอายุสั้น ระบบรากตื้น ต้องการน้ำสม่ำเสมอทุกระยะการเจริญเติบโตต้องให้น้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าแฉะหรือมีน้ำขัง เพราะน้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในดิน ทำให้รากพืชขาดออกซิเจนและเน่าตายได้ ควรรดน้ำในช่วงเช้า-เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด
  2. การให้ปุ๋ย ใส่ช่วงเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย ช่วยในการอุ้มน้ำ และรักษาความชื้นของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ส่วนการใส่ปุ๋ยในช่วงที่ผักโตแล้วควรโรยทุกระยะของการปลูกแล้วพรวนดิน รดน้ำทันที
  3. การกำจัดวัชพืช ใช้มีด จอบ หรือถอนด้วยมือ
  4. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การป้องกันกำจัดแมลงที่ปลอดภัย ทำได้หลายวิธี ดังนี้
    • ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง สามารถดักแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน หนอนแมลงวันชอนใบ โดยติดตั้ง 1-2 อันต่อแปลง สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร
    • ใช้กับดักแสงไฟ ซ่งึ อาจเป็นกับดักแมลงชนิดขดลวดไฟฟ้าทำลายแมลงโดยตรงเช่นเดียวกับที่ดักยุงตามบ้าน
    • ใช้สารสกัดจากสะเดา เป็นทั้งสารไล่แมลงและฆ่าแมลงโดยตรง
    • ใช้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคน มีทั้งในรูปของผงและน้ำโดยนำมาผสมน้ำฉีด หรือราดบนในช่วงบ่าย หรือค่ำ เพื่อไม่ให้เชื้อถูกชะล้างออกไป ควรรดน้ำแปลงปลูกก่อนฉีดเชื้อแบคทีเรีย
    • ไส้เดือนฝอย สามารถควบคุมด้วงหมัดผักกาด และหนอนกระทู้หอม โดยฉีดพ่นหรือราดลงแปลงปลูกหลังให้น้ำในตอนเย็น
  5. การป้องกันกำจัดเชื้อโรคในผัก ในการปลูกผักหากมีการดูแลให้พืชผักมีการเจริญเติบโตที่แข็งแรง สมบูรณ์ และปลูกไม่ให้ต้นแน่นหรือชิดกันเกินไป สามารถช่วยป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุก อาจทำให้เกิดปัญหาใบจุดหรือโคนเน่า ให้ทำการเก็บใบหรือต้นผักที่เป็นโรคทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลง และใช้น้ำปูนใสรดที่แปลงผักหรือต้นผักที่เหลือ

ประโยชน์ของการปลูกผักสวนครัว

  1. ปลูกเป็นรั้วบ้าน (รั้วกินได้) ผักที่สามารถนำมาปลูกทำเป็นรั้ว ได้แก่ กระถินบ้าน ชะอม ตำลึง ผักหวานผักปลัง ต้นแค ถั่วพู มะระ ฯลฯ ซึ่งเป็นผักที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตตลอดปีมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัยจากสารเคมี
  2. สามารถใช้ประดับตกแต่งบริเวณบ้าน เช่น จัดสวนผักสวนครัว ต้นแคปลูกเป็นรั้วกินได้ นำผักสวนครัวที่ปลูกในกระถางแบบห้อย-แขวน มาตกแต่งบริเวณรอบ ๆ บ้าน
  3. ใช้พื้นที่ส่วนที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์
  4. ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาหารประจำวัน
  5. ครอบครัวได้รับประทานผักที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน
  6. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ที่มา : ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านตำบลหนองสูงเหนือ จังหวัดมุกดาหาร
กลับหน้าหลักของ "ไร่ชญาทิพ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น